แนวโน้มผู้สูงอายุ เสี่ยงป่วยโรคหลอดเลือดอุดตัน

deep-vein-thrombosis หลอดเลือดอุดตัน

โรคหลอดเลือดดำชั้นลึกอุดตัน หรือ เรียกว่า Deep Vein Thrombosis (DVT) พบบ่อยในประเทศซีกโลกตะวันตก แต่ในประเทศแถบเอเชียรวมทั้งประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จะพบร้อยละ 6 ของประชากร

ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตเหมือนชาวตะวันตกมากขึ้น ทำให้อุบัติการณ์ของโรคมีแนวโน้มสูงขึ้นในคนไทย และถ้าหลอดเลือดดำชั้นลึกที่ขาอุดตันอาจเสียชีวิตได้ เราจึงต้องหันมาให้ความสำคัญ และทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้น

หลอดเลือดของคนเรา ประกอบด้วย หลอดเลือดแดงที่ต่อออกมาจากหัวใจ มีหน้าที่นำเลือดแดงที่อุดมไปด้วยสารอาหาร และออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เลือดจะนำของเสียกลับไปฟอกที่หัวใจ และปอดทางระบบหลอดเลือดดำ แบ่งออกเป็นสองชั้น ได้แก่

[wpsm_list type=”bullet”]

  • หลอดเลือดดำชั้นตื้น อยู่บนส่วนผิวของร่างกาย ปรากฏเห็นเป็นเส้นสีเขียวๆ ตามแขนขา
  • หลอดเลือดดำชั้นลึก ซ่อนอยู่ภายในไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาต่อเมื่อเกิดการอุดตัน ทำให้เลือดดำไม่สามารถไหลเวียนกลับสู่หัวใจและปอดได้ แขนหรือขาข้างที่มีหลอดเลือดอุดตันจะบวม เจ็บ และเลือดดำจะหาทางไหลเวียนกลับสู่หัวใจและปอดทางหลอดเลือดดำชั้นตื้นแทน ทำให้เห็นหลอดเลือดดำชั้นตื้นขยายตัวเด่นชัดขึ้น

[/wpsm_list]

โรคหลอดเลือดดำชั้นลึกที่ขาอุดตันในคนไทยพบบ่อยแค่ไหน

อุบัติการณ์ของหลอดเลือดดำชั้นลึกที่ขาอุดตันในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการศึกษา เช่น อุบัติการณ์ในผู้ป่วยที่มีอาการ ภาพถ่ายทางรังสี หรือแม้กระทั่งศึกษาจากการตรวจศพ

ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยต่อปีเฉลี่ย 100 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในผู้มีอายุน้อยกว่า 15 ปี จะพบเพียง 5 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี แต่พบในกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี สูงถึง 500 คน ต่อประชากร 100,000 คน

สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดดำชั้นลึกอุดตัน

deep-vein-thrombosis

สาเหตุนอกจากโรคทางพันธุกรรมแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การนอนนิ่งๆ ในท่าเดิมเป็นเวลานาน (มากกว่า 3 วัน) กินยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ หลังคลอด ระยะพักฟื้นหลังผ่าตัด 4 สัปดาห์ การนั่งรถหรือเครื่องบินเป็นเวลานาน โรคมะเร็งบางชนิด

ผู้มีประวัติเคยเป็นหลอดเลือดดำชั้นลึกอุดตัน โรคอัมพาตครึ่งซีกหรือครึ่งท่อน ภาวะหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือดดำทั้งสิ้น

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการขาบวม ร้อยละ 50 จะมีอาการปวดร่วมด้วย พบน่องบวมและกดเจ็บ เมื่อให้ผู้ป่วยกระดกข้อเท้าจะทำให้ปวดขามากขึ้น

deep vein thrombosis โรคหลอดเลือดดำชั้นลึกอุดตัน

สีของผิวหนังบริเวณที่บวมอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงและรู้สึกร้อน คล้ายการอักเสบติดเชื้อของผิวหนัง หากการอุดตันเป็นเวลานาน อาจตรวจพบการขยายตัวของหลอดเลือดดำชั้นตื้นร่วมด้วย (เส้นเลือดขอด)

1 ใน 3 ของผู้ป่วย จะมีการอุดตันของหลอดเลือดที่ปอดร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการเลื่อนหลุดของลิ่มเลือดที่ขาไปสู่ปอด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยแบบเฉียบพลัน และทำให้เสียชีวิตได้

การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยอาการที่แสดง ร่วมกับการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางรังสีวิทยา

ทำอย่างไร? เมื่อรู้ว่าเป็นหลอดเลือดดำชั้นลึกที่ขาอุดตัน

หากสงสัยควรรีบมาพบแพทย์ และหากเป็นโรคดังกล่าวต้องเข้ารับการรักษาทันที ผู้ป่วยต้องนอนพัก ยกขาสูงและให้ยาแก้ปวดตามความจำเป็น

การรักษาด้วยการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ ยาเฮปาริน เป็นยาฉีดที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดในทันที ทำให้ขายุบบวมและทุเลาปวดได้เร็ว

การบริหารยาทำได้สองวิธี คือ ฉีดและหยดเข้าหลอดเลือดดำต่อเนื่อง และต้องตรวจการแข็งตัวของเลือดเป็นระยะๆ ถ้าให้ยามากเกินไป อาจทำให้เลือดออกผิดปกติได้

ควรให้ยาติดต่อกัน 3-5 วัน จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นยารับประทาน หรือเลือกฉีดยาเฮปาริน เข้าใต้ผิวหนังวันละสองเวลา 3-5 วัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นยารับประทาน ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ แพทย์มักจะให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทานต่อไปอีก 3-6 เดือน แต่ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

การพยากรณ์และการป้องกัน

ร้อยละ 6 ของผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดดำชั้นลึกที่ขาอุดตันจะเสียชีวิต และจะสูงขึ้นหากมีปัจจัยเสี่ยงบางชนิดร่วม เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ โรคมะเร็งหรือหลอดเลือดหัวใจอุดตันร่วมด้วย และอัตราการเสียชีวิตจะสูงถึงร้อยละ 12 หากมีหลอดเลือดที่ปอดอุดตันร่วมด้วย

หากรักษาไม่ทันท่วงที นอกจากจะทำให้เสียชีวิตแล้ว ยังอาจทำให้เกิดข้อแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น ขาบวมตลอดเวลา แผลเรื้อรังที่ขาข้างนั้นๆ

สำหรับการป้องกันแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด การนอนนิ่งๆ เป็นเวลานาน เป็นต้น

ดังนั้น หากสงสัยว่าจะเป็นโรคดังกล่าว ต้องรีบพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว จึงจะเป็นหนทางที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และลดข้อแทรกซ้อนในระยะยาวได้

บทความโดย
ผศ.นพ.ธีระ ฤชุตระกูล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

[wpsm_titlebox title=”สอบถามเพิ่มเติมได้ที่” style=”4″]
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0 2256 4300 และ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย โทร. 0 2716 5977- 8
[/wpsm_titlebox]