อาการปวดท้องน้อยในช่วงมีประจำเดือน เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในผู้หญิง ส่วนมากเกิดขึ้นจากการบีบตัวของมดลูก
เพื่อให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดออกมากลายเป็นเลือดประจำเดือน อาการปวดมักจะเป็นในช่วง 1-2 วันแรกที่ประจำเดือนมา
แล้วก็จะค่อยๆ ดีขึ้นในวันถัดไป อาการเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย แต่หากอาการปวดมีความรุนแรงมาก
จนแทบทนไม่ไหวทุกครั้งที่ประจำเดือนมา อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ตำแหน่งที่ฝังตัวของเนื้อเยื่อจะอยู่ตามส่วนต่างๆ ภายในช่องท้องที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์
รวมถึงลำไส้ ตับ กะบังลม กระเพาะปัสสาวะ และภายนอกช่องท้องก็ได้เช่นกัน หากปล่อยอาการปวดทิ้งเอาไว้นาน
อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ดังนั้นหากสาวๆ รู้สึกถึงอาการปวดท้องที่รุนแรงแบบผิดปกติ
ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพื่อหาสาเหตุว่าเป็นอาการทั่วไป หรือมีตัวกระตุ้นมาจากโรคอื่นหรือไม่
เข้าใจการเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือที่นิยมเรียกในทางการแพทย์ว่า โรคเอ็นโดเมททริโอซิส (Endometriosis)
เป็นความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญเติบโตในตำแหน่งที่ไม่ใช่ในโพรงมดลูก
พบได้มากในตำแหน่งของอุ้งเชิงกราน ซึ่งก็คือท้องน้อย ตามปกติเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาในช่วงที่มีประจำเดือนกรณีที่ไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
แม้ว่าจะเกิดการเจริญเติบโตในตำแหน่งที่ไม่ใช่โพรงมดลูก เนื้อเยื่อเหล่านี้ก็จะหลุดลอกออกไปได้เช่นกัน
ในภาวะผิดปกติที่ทำให้เยื่อบุไปเจริญเติบโตผิดที่ เมื่อหลุดลอกออกมา
เสี่ยงที่จะทำให้บริเวณที่มันเกาะติดอยู่เป็นแผลถลอก ตามมาด้วยอาการอักเสบ
เมื่อเกิดขึ้นบ่อยเข้าก็จะทำให้มีพังผืดขึ้นมาเกาะ เกิดถุงน้ำจากการสะสมของเลือดที่ออกมา
กลายเป็นถุงน้ำที่มีเลือดอยู่ภายใน เป็นเลือดเก่าที่คั่งค้าง จึงทำให้มีลักษณะเป็นถุงสีแดงคล้ำจนถึงน้ำตาลเข้ม
เรียกกันว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือช็อกโกแลตซีส (Chocolate cyst) นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
แต่ส่วนใหญ่จะพบว่าเกิดขึ้นจากการไหลย้อนตัวของเลือดประจำเดือนเข้าไปยังท่อนำไข่
และฝังตัวตามอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายในช่องท้อง ที่พบได้มากที่สุดคือบริเวณอุ้งเชิงกราน
เพราะอยู่ต่ำสุดของร่างกาย และบริเวณรังไข่ เยื่อบุช่องท้องด้านหน้าและด้านหลังที่ใกล้กับลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ
ส่วนการกระจายตัวไปนอกมดลูกของเยื่อบุเหล่านี้ เชื่อว่ามาจากการที่มันหลุดลอดผ่านทางหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง
เราจึงสามารถพบโรคนี้ได้ในอวัยวะอื่นที่ไกลออกไปได้เช่นเดียวกัน
อาการของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนหลักๆ ของโรคนี้ บางรายมักจะไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็นเลย
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสภาพของโรคยังมีขนาดเล็กอยู่ แต่หากสภาพของโรคขยายตัวมากขึ้น
ส่วนมากจะพบอาการปวดท้องในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งอาการปวดจะเป็นก่อนประจำเดือน 2-3 วัน
และดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลาที่มีประจำเดือน โดยสามารถสังเกตได้ว่าในรอบเดือนถัดไป
อาการปวดจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น มีอาการอื่นแทรกซ้อนร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บท้องขณะมีเพศสัมพันธ์
เป็นอาการเจ็บลึกๆ ที่มักจะคงอยู่แม้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง
มีบุตรยากหรือเป็นหมัน ปวดที่อุ้งเชิงกรานเรื้อรัง มีอาการปวดที่ทวารหนักขณะขับถ่าย
อาการจะรุนแรงมากขึ้นอีกเมื่อเป็นช่วงที่มีประจำเดือนร่วมด้วย ปวดอุ้งเชิงกรานในขณะปัสสาวะ
บางรายอาจพบอุจจาระหรือปัสสาวะมีเลือดปนออกมาด้วย
ซึ่งจะเกิดขึ้นในกลุ่มที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตภายในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะ
ความรุนแรงของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
แม้ว่าโรคนี้จะยังไม่ถูกจัดให้เป็นโรคร้ายแรง แต่ในบางรายอาการที่เกิดขึ้นก็มีความรุนแรงหลากหลายระดับแตกต่างกันออกไป
ขึ้นอยู่กับขนาดของเยื่อบุ ตำแหน่ง และผลกระทบที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน บางรายมีพังผืดก่อตัวขึ้นที่อุ้งเชิงกราน
มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง โดยอาการปวดสามารถทนได้ ไม่มีความรุนแรงมากไปกว่านี้
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูก จะสามารถกลายสภาพไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เกิดขึ้นภายในรังไข่ จะกลายเป็นโรคมะเร็งรังไข่บางชนิดได้
วิธีรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
แม้ว่าโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในทุกคนเสมอไป
ซึ่งจะเว้นเอาไว้ในกลุ่มที่มีอาการไม่มากนัก ไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิต หรือคนที่แทบจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นเลย
ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา นอกจากเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
เพราะรายที่อาการคงที่ไม่รุนแรงมากไปกว่านี้ โรคจะสามารถหายไปได้เองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน เยื่อบุดังกล่าวก็จะสลายตัวไปเองในที่สุด
ในรายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา จะเป็นในกลุ่มที่มีอาการปวดประจำเดือนอย่างหนัก
ในรายที่มีบุตรยาก มีถุงน้ำในรังไข่ หรือพบว่ามีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
โดยเป้าหมายในการรักษาเพื่อบรรเทาอาการและกำจัดอาการของโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น
ในขั้นตอนของการรักษา แพทย์จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ การรักษาด้วยยา
ใช้ในรายที่ไม่ต้องการมีบุตร ซึ่งจะเป็นฮอร์โมนเพศ และยาที่ทำหน้าที่กดการทำงานของรังไข่
ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมีบุตรได้ในช่วงที่กำลังรักษาตัวอยู่ เหมาะสำหรับใช้ในรายที่มีอาการปวดประจำเดือน
มีถุงน้ำขนาดเล็กในรังไข่ที่ไม่เกิน 3 เซนติเมตร ร่วมกับการให้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ เพื่อบรรเทาอาการปวดให้น้อยลง
และอีกกรณีคือการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด จะใช้ในรายที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนและปวดที่บริเวณอุ้งเชิงกรานอย่างหนัก
มีถุงน้ำในรังไข่ขนาดใหญ่ จนไปกดทับอวัยวะอื่นๆ ใกล้เคียง การรักษาไม่ตอบสนองด้วยยา
หรือในรายที่ต้องการมีบุตร การผ่าตัดจะแบ่งออกเป็นแบบอนุรักษ์ (Conservative surgery)
ซึ่งจะผ่าตัดเอาแค่ส่วนที่เป็นรอยของโรคออกไปเท่านั้น และอีกแบบคือแบบรุนแรง (Radical surgery)
เป็นการผ่าตัดที่เลาะเอารังไข่และมดลูกทั้งหมดออกไป ไม่นิยมใช้ในรายที่มีอายุยังน้อย
หรือในรายที่ยังต้องการมีบุตรอยู่ ดังนั้นการผ่าตัดแบบเอาเฉพาะบางส่วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคออกไปเท่านั้น จะได้รับความนิยมมากกว่า
Photo Credit : medicinenet.com
ในรายที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แล้วมาพบแพทย์ในช่วงที่โรคลุกลามไปมากแล้ว
อาจจะต้องเข้ารับการปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้องและเร่งด่วน
จะเป็นตัวช่วยลดความรุนแรงของโรคไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ ในระหว่างการรักษา
ก็จะต้องดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
พร้อมกับการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด จนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งโรคนี้ยังสามารถกลับมาเป็นอีกได้ในช่วงวัยที่ยังมีประจำเดือนอยู่นั่นเองค่ะ