ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hypercholesterolemia) คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลอดอุดตัน อาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ในบางกรณีอาจส่งผลกระทบต่อโลหิตที่ได้รับบริจาคได้
โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ พบว่า ส่วนประกอบโลหิตที่เป็นพลาสมา ในผู้บริจาคที่เป็นโรคภาวะไขมันในเลือดสูง มีลักษณะขุ่นขาวมากกว่าปกติ เมื่อเทียบกับผู้บริจาคที่มีสุขภาพแข็งแรง
หากทำการบริจาคโลหิตในช่วงระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้ไม่สามารถใช้ส่วนประกอบโลหิตที่เป็นพลาสมาได้
- ไขมันในเลือดมีกี่ประเภท
- สาเหตุหลักของไขมันในเลือดสูง
- วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง
- ไขมันในเลือดสูง บริจาคโลหิตได้หรือไม่
- ทำไมต้องจำกัดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- ตรวจพบได้อย่างไรว่า มีไขมันในโลหิต
- เมื่อตรวจพบว่า มีไขมันในโลหิตแล้วควรทำอย่างไร?
- ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้บริจาคโลหิตที่มีไขมันสูง
ไขมันในเลือดมีกี่ประเภท
โคเลสเตอรอล ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเอง อีกส่วนหนึ่งได้รับจากอาหาร แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- โคเลสเตอรอลชนิดอันตราย (LDL – แอลดีแอล) ถ้ามีในระดับสูงเกินไป จะทำให้เกิดการสะสมที่เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ หรืออุดตัน
- โคเลสเตอรอบชนิดดี (HDL – เอชดีแอล) เป็นชนิดที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่เหลือไปทำลายที่ตับ ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลชนิดนี้สูง จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้
ไตรกลีเซอร์ไรด์ เป็นไขมันที่ได้รับจากอาหารประเภท แป้ง น้ำตาล ถ้ามีระดับสูงมากจะทำให้หลอดเลือดอุดตันได้
สาเหตุหลักของไขมันในเลือดสูง
- พันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ เช่น อาหารทอด หมูสามชั้น ข้าวมันไก่ เป็นต้น
- น้ำหนักเกินมาตรฐาน การไม่ควบคุมอาหาร ขาดการออกกำลังกาย
- โรคเบาหวน ภาวะหรือโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคตับ
- ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด สเตียรอยด์ เป็นต้น
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง
1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้งและน้ำตาล
2. ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ขั้นต่ำครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เช่น การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ ขี่จักรยาน เพื่อเพิ่มสมรรถภาพปอดและหัวใจ หากมีอายุเกิน 40 ปี หรือมีโรคประจำตัว ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนว่า ควรออกกำลังกายชนิดใด และมากน้อยเพียงไรจึงจะเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับประโยชน์อย่างเดียว โดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ
3. ควบคุมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ติดมัน สมองสัตว์ อาหารทะเลจำพวกกุ้ง ปลาหมึก เป็นต้น
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอด อาหารเจียว ควรใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันสัตว์ หากเป็นน้ำมันพืชที่สกัดจากเมล็ดพืชจะมีกรดไลโนอิกที่มีตัวนำโคเลสเตอรอล ไปเผาผลาญสูงกว่าน้ำมันที่สกัดจากเนื้อพืช
5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขนมหวาน แป้ง ข้าวต่างๆ
6. รับประทานอาหารพวกผัก และผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น คะน้า ผักกาด ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก จะช่วยลดการดูดซึมของไขมันเข้าสู่ร่างกาย
7. เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารเป็นการต้ม ตุ๋น นึ่ง แทนการทอดหรือผัด
8. หากต้องการดื่มนม ควรดื่มนมไขมั้นต่ำ เช่น นมพร่องมันเนย
ไขมันในเลือดสูง บริจาคโลหิตได้หรือไม่
ถ้าผลของค่าไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์สูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แล้วล่ะก็ ต้องงดการบริจาคโลหิตไว้ก่อน แต่ถ้าผู้บริจาคโลหิตมีภาวะไขมันในเลือดสูง หากได้รับประทานยาลดไขมันและควบคุมอาหาร จนระดับไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือค่าไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก็สามารถบริจาคเลือดได้
ทำไมต้องจำกัดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
ปัจจุบันตามความเป็นจริงแล้ว โลหิตหรือเลือดทุกยูนิตที่มีผู้เสียสละบริจาคให้นั้น สามารถนำไปใช้ในการรักษาคนไข้ ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือจากการคลอดบุตร จากอุบัติเหตุและโรคที่เกี่ยวกับโลหิตทั้งหลาย
เมื่อได้รับโลหิตจากผู้บริจาคแล้ว ก่อนนำไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ต้องผ่านการตรวจตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ การตรวจหาหมู่โลหิต ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิส และวิวัฒนาการในปัจจุบันยังนำโลหิตไปแยกส่วนประกอบ เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยได้ตรงตามอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตรวจพบได้อย่างไรว่า มีไขมันในโลหิต
การแยกส่วนประกอบโลหิต แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนที่เป็นเม็ดโลหิต และส่วนที่เป็นพลาสมาหรือน้ำเหลือง ทางศูนย์จะตรวจพบก็ต่อเมื่อนำโลหิตของผู้บริจาคโลหิตไปปั่นแยก และพบว่า ส่วนของน้ำเหลืองในโลหิตของผู้บริจาคมีลักษณะขุ่นขาวมากกว่าปกติ (ตรวจเจอครั้งแรก) จึงไม่สามารถนำส่วนที่เป็นน้ำเหลืองไปให้ผู้ป่วยได้
ซึ่งก็คาดว่า เกิดจากมีสารไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์สูงนั่นเอง ซึ่งอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดตีบตันของอวัยวะที่สำคัญต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง
เมื่อตรวจพบว่า มีไขมันในโลหิตแล้วควรทำอย่างไร?
เมื่อมีการตรวจพบครั้งแรก จะทำหนังสือเรียนผู้บริจาคโลหิต แจ้งให้ทราบตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น พร้อมทั้งแนะนำให้ลดอาหารประเภทไขมันจากสัตว์ เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ แกงต่างๆ ที่ประกอบด้วยกะทิ ของหวานต่างๆ ของทอด ของมัน
หากผู้บริจาคได้ควบคุมอาหารตามที่ได้แนะนำ และมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ท่านก็สามารถบริจาคโลหิตได้ในครั้งต่อไป
เมื่อตรวจพบครั้งที่สอง หลังจากที่ได้รับหนังสือแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไตรกลีเซอร์ไรด์สูงแล้ว จะทำหนังสือแจ้งผู้บริจาคเป็นครั้งที่ 2 ว่า
การบริจาคโลหิตครั้งล่าสุดยังคงพบน้ำเหลืองที่ยังมีสีขาวขุ่นอยู่ ไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้ จึงแนะนำให้ผู้บริจาคโลหิตเจาะโลหิตเพื่อตรวจดูระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (บริการตรวจฟรี 1 ครั้ง)
ท่านสามารถแจ้งความประสงค์เจาะตรวจสารเคมีในโลหิตได้ ในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 – 10.00 น. โดยขอให้ท่านงดอาหาร (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะตรวจเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้บริจาคโลหิตที่มีไขมันสูง
ผู้บริจาคโลหิตต้องลดอาหารประเภทไขมันจากสัตว์ อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ ของหวาน ของทอดเป้นต้น ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ