เชื่อหรือไม่ว่า ผู้คนเกือบ 70% เคยสะดุ้งตื่นจากความฝันที่เหมือนกับตัวเองกำลังตกจากที่สูง ?
โดยอาการดังกล่าวจะรู้สึกเหมือนกับว่า เรากำลังเล่นเครื่องเล่นอย่างรถไฟเหาะ จนทำให้ตกใจตื่นขึ้นมากลางดึก
แน่นอนว่า อาการแบบนี้ต้องมีคนที่ร้องอ๋อ… เพราะเคยมีประสบการณ์กับฝันประหลาดเช่นนี้มาก่อน
ซึ่งนั่นหมายถึง ความฝันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงคุณคนเดียวเท่านั้น แถมประสบการณ์ฝันตกตึก ตกเหว
หรือจะรู้สึกว่ากำลังตกจากที่ไหนสักแห่งสูงๆ ยังสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในบางกลุ่มจนกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
โดยเฉพาะคนที่มีปัญหานอนหลับยาก ความฝันนี้มีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่าภาวะ “Hypnagogic jerk”
ซึ่งเป็นอาการที่เรามักเรียกว่าฝันกระตุก ที่ส่งผลให้เกิดอาการนอนหลับไม่ปกติตามมา
เมื่อภาวะนี้เป็นความฝันที่พบได้กับผู้คนเป็นจำนวนมาก มันจึงไม่ใช่ความฝันแบบปกติ
แต่มีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมต่างๆ การดำเนินชีวิตประจำวัน และสภาพร่างกายของตัวเองเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะดังกล่าว
ลักษณะอาการของภาวะ Hypnagogic jerk
อาการที่เกิดขึ้นจากภาวะนี้จะมีลักษณะที่เกิดขึ้นอยู่ในระหว่างเคลิ้มหลับแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น
อยู่ดีๆ ก็เกิดรู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังร่วงหล่นจากที่สูงจนหวิวในท้อง หรือตกลงมากระแทกเข้ากับบางสิ่งบางอย่างที่คุณไม่รู้ว่ามันคืออะไร
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้คุณเกิดภาวะกระตุกอย่างแรงจนสะดุ้งตื่นขึ้นมาได้…แล้วพบว่ามันเป็นเพียงแค่ความฝันเท่านั้น
การกระตุกเกิดขึ้นได้แบบทั้งเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น แขน, ขา และการกระตุกทั้งตัว ก็สามารถพบได้ การสะดุ้งตื่นจะเป็นเพียงระยะสั้นๆ ร่างกายจะปิดโหมดเข้าสู่การนอนหลับปกติต่อไปได้
การกระตุกขณะหลับ และความสัมพันธ์ในการทำงานของกล้ามเนื้อ
การกระตุกขณะหลับดังที่กล่าวไปข้างต้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า hypnic jerks, periodic movements in sleep หรือ nocturnal myoclonus
มีส่วนสัมพันธ์กับการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ จะพบได้เมื่ออยู่ในช่วงเคลิ้มหลับ กำลังหลับแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น
พบได้ตั้งแต่วัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยกลางคน และยิ่งพบได้มากขึ้นในกลุ่มสูงวัย การกระตุกเป็นได้ทั้งอาการเพียงเล็กน้อยบริเวณหัวแม่เท้า, เท้า หรือบริเวณมือเป็นระยะๆ ทุก 30-40 วินาที
เป็นอาการที่เราอาจจะไม่รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็ได้ แต่หากการกระตุกรุนแรง เช่น ฟาดแขนฟาดขา เตะ ถีบ หรือกระตุกทั้งตัว อาจทำให้ตื่นขึ้นมากลางดึกแบบเต็มที่ได้
ร่างกายที่กำลังเข้าสู่โหมดพักผ่อน การทำงานของระบบประสาทคลายตัว กำลังเคลิ้มหลับ
จะมีการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าลง อุณหภูมิในร่างกายเริ่มเย็นขึ้น กล้ามเนื้อผ่อนคลายลงช้าๆ
แต่ก็มีกล้ามเนื้อบางส่วนปรับตัวตามไม่ทัน เป็นช่วงเดียวกันกับที่กำลังฝัน ทำให้กลายเป็นความฝันที่เหมือนเรากำลังตกจากที่สูงนั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะฝันกระตุก Hypnagogic jerk
ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติหลายๆ อย่างในร่างกาย ซึ่งได้แก่
1.เกิดขึ้นกับคนที่ชอบนอน “นอกช่วงเวลา” ที่ควรหลับ คืออาจจะเป็นช่วงเวลากลางวันแบบงีบหลับเพราะรู้สึกอ่อนเพลีย ไปจนถึงช่วงที่กล้ามเนื้อกำลังเข้าสู่ภาวะเตรียมพร้อมผ่อนคลาย
จะมีการส่งสัญญาณเตือนไปยังสมอง แต่กลับเกิดข้อผิดพลาด สารที่สื่อกลับมาจึงเป็นความผิดปกติ
ทำให้เรารู้สึกว่าอยู่ดีๆ ก็ตกจากที่สูง โดยสัญญาณที่ส่งกลับออกมาดังกล่าวจะไปตอบสนองกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดภาวะเกร็ง และสะดุ้งตื่นขึ้นมาชั่วขณะ
2.การนอนหลับในห้องแอร์ที่มีอากาศเย็นจัด มีโอกาสทำให้เกิดภาวะฝันกระตุกได้
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของกล้ามเนื้อไม่สมดุลกับอุณหภูมิของร่างกาย จนทำให้เกิดอาการกระตุกเกร็ง
3.ความเครียดสะสมในระหว่างวัน ความวิตกกังวลต่างๆ และการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายๆ วันติดต่อกัน เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการกระตุก
ผลกระทบจากภาวะฝันกระตุก Hypnagogic jerk
ภาวะ hypnic jerks โดยปกติจะเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ซึ่งไม่มีอันตราย
แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่มีการกระตุกรุนแรงมาก จนทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มอิ่มในช่วงเวลากลางคืน
การกระตุกที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้ตื่นขึ้นมาเต็มที่ ทว่าการที่สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นมาเพียงเล็กน้อยแล้วหลับต่อไป สลับกันไปมาในช่วงกลางคืน
อาการแบบนี้มักทำให้รู้สึกนอนหลับไม่เพียงพอ ง่วงเหงาหาวนอนเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม และทำให้อยากงีบหลับในเวลากลางวัน
อย่างไรก็ตามในกลุ่มที่มีภาวะฝันกระตุกจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก มีการเต้นของหัวใจถี่เร็ว
สะดุ้งตื่นจนลุกขึ้นมานั่งกลางดึก นอนต่อไปไม่หลับ หรือเข้าสู่สภาวะเหมือนผีอำ
อาจจะต้องเข้ารับการพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งจะช่วยให้การนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
การรักษาภาวะ Hypnic jerks จำเป็นหรือไม่ ?
ถ้าจะถามว่าอาการดังกล่าวควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์หรือไม่นั้น หากเป็นอาการกระตุกที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง และไม่มีผลกระทบต่อการนอนหลับพักผ่อนแต่อย่างใด ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา
แต่หากมีการกระตุกที่ผิดปกติ บ่อยครั้ง จนทำให้เป็นปัญหาที่นำไปสู่ “โรคนอนไม่หลับ” (Insomnia) ตามมา การปล่อยทิ้งไว้นานจะส่งผลเสียต่อร่างกาย
การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยตัวเองคือ
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง พยายามผ่อนคลายร่างกายอย่าให้เกิดความเครียดสะสม นั่งสมาธิ
อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดูภาพยนตร์ ข่าว หรือรายการที่ทำให้รู้สึกหดหู่หรือเครียดก่อนเข้านอน
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นเป็นธัญพืช ดื่มนมอุ่นๆ ก่อนนอน เน้นเป็นนมถั่วเหลืองที่จะมีสารเซราโทนินที่ช่วยทำให้สมองเกิดความผ่อนคลาย งดเว้นขนมขบเคี้ยวและอาหารหนักๆ ก่อนนอน
กรณีที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ มักจะมีการให้ยาโคลนาซีแพม (clonazepam เม็ดละ 0.5 มิลลิกรัม) 1-2 เม็ดก่อนนอนตามความรุนแรงของอาการ
หรือยาเทมาซีแพม (temazepam เม็ดละ 15 มิลลิกรัม) ก่อนนอน ซึ่งจะช่วยทำให้สมองผ่อนคลาย นอนหลับพักผ่อนได้สนิทตลอดคืน และลดอาการฝันกระตุกให้น้อยลงอีกด้วย
Photo Credit : baotinnhanh.vn
อาการฝันกระตุก เหมือนตกจากที่สูง Hypnic jerks ถือว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยทั่วไป
มักจะไม่ค่อยส่งผลอันตรายร้ายแรง แต่จะมีเพียงบางรายเท่านั้นที่จะเกิดอาการกระตุกบ่อยครั้งใน 1 คืน
มีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์เพื่อให้อาการทุเลาลง สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่าเดิมนั่นเองค่ะ