สาวๆ ที่เคยส่องกระจก แล้วมองเห็นความผิดปกติของดวงตาของตัวเองเป็นสีเหลืองหรือไม่ เช่น …
ลักษณะที่ปรากฏให้เห็นของเนื้อเยื่อบริเวณดวงตา และเนื้อเยื่อเมือกทั้งหลาย กลายสภาพจากสีขาวสดใสเป็นสีเหลืองขึ้นมา
แม้จะไม่มีความผิดปกติที่ร้ายแรง บางรายก็แทบไม่รู้สึกตัวถึงอาการที่เกิดขึ้น เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “ดีซ่าน” (Jaundice)
ดีซ่าน เป็นอาการไม่ใช่โรคแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะมีต้นตอมาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับตับ หรือถุงน้ำดี จนทำให้เกิดอาการข้างเคียงดังกล่าว
ซึ่งภาวะเหลืองบริเวณตาขาวและเยื่อเมือกนี้ สามารถพบได้ในทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยแรกเกิดไปจนถึงสูงอายุ
ไม่เพียงแค่ส่วนของดวงตาเท่านั้นที่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แต่ยังพบอาการตัวเหลืองได้ด้วย
หากใครที่สังเกตว่าตัวเองมีสีผิวและสีของเยื่อเมือกในตาเปลี่ยนไป ให้สันนิษฐานเอาไว้ก่อนเลยว่า
นั่นอาจจะมาจากสาเหตุของโรคหลายชนิดที่เกิดขึ้นในร่างกาย จนทำให้กลายเป็นอาการข้างเคียงดังกล่าวนั่นเองค่ะ
ทำความรู้จักกับอาการตาเหลือง จากภาวะดีซ่าน
ในอดีตคนมักจะเข้าใจว่า ดีซ่านเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
แต่จริงๆ แล้ว ดีซ่าน เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากโรคต่างๆ ภายในร่างกายของเรา
ไม่ได้ระบุลงไปได้ว่าเป็นอะไรที่เป็นต้นตอของสาเหตุโดยตรง ส่วนใหญ่ภาวะนี้จะมีความสัมพันธ์กับโรคตับอักเสบ
และโรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำดี แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด เพราะอาการตัวเหลืองยังพบได้ในผู้ป่วยโรคไข้ไทฟอยด์
โรคตับแข็งจากพิษสุราเรื้อรัง โรคมาลาเลีย และโรคเลือด บางชนิด เป็นต้น
ดังนั้นเราจึงควรเข้าใจใหม่ว่า หากแพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยมีภาวะดีซ่าน นั่นยังไม่ได้บอกว่ามีสาเหตุมาจากโรคชนิดใด
เพราะต้นตอของภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างมากมาย แพทย์จะต้องมีการวินิจฉัยกันต่อไป
ซึ่งลักษณะอาการที่พบจะมีอาการอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น
แต่ที่มักพบได้บ่อยคืออากรเบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกอ่อนเพลีย
ปวดตามชายโครง เป็นไข้หนาวสั่น ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ท้องบวม ขาบวม และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
สาเหตุของการเกิดโรคดีซ่าน
กลไกที่ทำให้เกิดดีซ่าน มาจากสารสีเหลืองที่เรียกกันว่า “บิลิรูบิน” (Bilirubin) ภายในเลือด
เกิดการเพิ่มตัวสูงมากขึ้นกว่าปกติ ทำให้มันเข้าไปจับกับส่วนต่างๆ ของเนื้อเยื่อ จนกลายเป็นสีเหลือง
ซึ่งแต่ละคนจะมีภาวะเหลืองมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารสีเหลืองชนิดนี้นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้บิลิรูบินเพิ่มสูงขึ้น สามารถสูงขึ้นได้ทั้งชนิดที่สามารถละลายน้ำได้และแบบไม่ละลายน้ำ
หรือเกิดขึ้นเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น หากเป็นนเด็กแรกเกิด มักพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
ลำตัวจะเหลืองไม่มากนัก เนื่องมาจากการคั่งค้างของสารบิลิรูบินในเลือด เนื่องจากตับยังทำงานได้ไม่เต็มที่
แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาการดีซ่านจะค่อยๆ หายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ พร้อมกับตับที่ทำงานได้อย่างแข็งแรงมากขึ้นด้วย
ส่วนในผู้ใหญ่ที่พบได้มาก คือโรคติดเชื้อภายในตับ จนทำให้เกิดไวรัสตับอักเสบ
โรคไข้จับสั่นที่มีเชื้อโรคเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดง โรคตับอักเสบจากภูมิแพ้ตัวเอง
และการรักษาโรคตับโดยมีผลข้างเคียงมาจากยาบางชนิด เช่นการรักษาวัณโรค หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบสาเหตุได้จากการอุดตันของทางเดินน้ำดี สารบิลิรูบินจะไม่สามารถไหลลงลำไส้ได้ มันจึงถูกผลักเข้าไปในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น
อาการที่พบโดยทั่วไปของโรคดีซ่าน
อาการของภาวะดีซ่าน ซึ่งเกิดจากปริมาณของสารบิลิรูบินที่สูงขึ้นกว่าปกติ จะพบว่าผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง
คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หนาวสั่น ตัวเหลืองร่วมกับภาวะซีด และที่เห็นได้ชัดคืออาการตัวเหลืองตาเหลือง
บางรายมีอาการคัน เนื่องจากสารชนิดนี้เข้าไปสร้างอาการระคายเคืองให้กับผิว
ส่วนอาการอื่นๆ ที่นอกเหนือออกไป ก็ขึ้นอยู่กับโรคที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย
แนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะดีซ่าน
สำหรับขั้นตอนในการรักษา แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ อาการ การติดเชื้อ
โรคประจำตัวทั้งอดีตและปัจจุบันที่เป็นอยู่ มีการตรวจเลือด ตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของตับ
อาจจะมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ การรักษาภาวะดีซ่าน
แพทย์จะรักษาจากสาเหตุ ด้วยการลดปริมาณสารบิลิรูบินในเลือดให้น้อยลง
และอาจจะมีการรักษาแบบประคับประคอง ไม่ให้อาการทรุดหนักมากขึ้น
ส่วนอาการข้างเคียง เช่น ท้องเสีย เป็นไข้ และอาการคัน ก็จะให้ยาบรรเทาอาการเป็นรายบุคคล
การดูแลตัวเองของผู้ป่วยดีซ่าน
การดูแลตัวเองของผู้ป่วย จะช่วยลดอาการตัวเหลืองตาเหลืองให้น้อยลง พร้อมช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง
ลดอาการจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ได้ด้วย ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีภาวะดีซ่าน ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยไม่มีข้อแม้
เพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างถูกวิธี มีการพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย
หยุดทำงานเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนมากที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ตัวเองคลื่นไส้
หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาเสพติดทุกชนิดอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในรายที่มีโรคตับจากพิษสุราเรื้อรัง
หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง หรือแม้กระทั่งการฉีดยาด้วยตัวเอง ควรให้เป็นหน้าที่ของแพทย์
เพื่อความปลอดภัยสูงสุด หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดของผู้ป่วย เพราะอาจจะมีเชื้อไวรัสอยู่ภายใน ง่ายต่อการติดต่อกับบุคคลใกล้ชิด
Photo Credit : bilka.info
สรุปแล้ว ผู้ป่วยที่มีภาวะดีซ่าน ต้องเข้าใจตัวเองเสียใหม่ว่า นั่นไม่ได้เกิดขึ้นจากโรคดีซ่าน แต่เกิดจากโรคทางกายอื่นๆ
ดังนั้นการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามจนยากต่อการรักษาในภายหลัง