ภาวะเลือดข้น ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไปเสียแล้ว เพราะภาวะเช่นนี้สามารถกลายสภาพเป็น “โรคเลือดหนืด” (Polycythemia vera ย่อว่า PV)
มีสาเหตุมาจากปริมาณของเม็ดเลือดแดงที่มากเกินไป เป็นภาวะเม็ดเลือดแดงข้นปฐมภูมิ
เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อีกทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนบอกถึงความผิดปกติของระบบภายในร่างกาย
ซึ่งการสังเกตดูว่าภาวะเลือดข้นเหล่านี้อาจจะมาจากหลายสาเหตุรวมกัน กล่าวคือ อาจมาจากโรคประจำตัว
การดำเนินชีวิตประจำวัน ทางที่ดีเมื่อพบว่าตัวเองมีปัญหานี้เกิดขึ้น สาวๆ ควรขอเข้ารับการตรวจสุขภาพสักหน่อย
จะได้ป้องกันความรุนแรงไม่ให้โรคนี้ลุกลามจนทำลายสุขภาพจนสายเกินแก้เอาได้ค่ะ
อาการของโรคเลือดข้นหนืด
สำหรับอาการที่พบโดยทั่วไป ในระยะแรกเริ่มจะไม่ปรากฏอาการที่รุนแรงมากนัก มีอาการมึนงง
ปวดศีรษะ เวียนหัว คันตามผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อต้องสัมผัสกับน้ำอุ่น ผิวหนังเป็นสีแดงเข้มขึ้น
เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะเวลานอนคว่ำ รู้สึกชา แสบร้อน และไม่มีเรี่ยวแรงบริเวณแขน ขา
มือและเท้า เจ็บแน่นบริเวณหน้าอกและชายโครงซ้ายที่เกิดขึ้นจากภาวะม้ามโต
สาเหตุของการเกิดโรคเลือดข้น หนืด
สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคเลือดข้นนั้น มักจะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดกับสารพันธุกรรมหรือโครโมโซม
แพทย์จึงยังไม่ทราบสาเหตุที่จะสามารถระบุได้แน่ชัด อีกทั้งยังไม่พบปัจจัยอันเป็นตัวกระตุ้นโดยตรงของโรคนี้อีกด้วย
แต่เชื่อว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมาจากกไกลที่เป็นตัวควบคุมเม็ดเลือดแดงเสียไป
จากปกติที่เม็ดเลือดแดง จะมีขั้นตอนการควบคุมปริมาณเซลล์ให้เกิดความสมดุล
การสร้างปริมาณเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ มาจากไขกระดูก เม็ดเลือดแดงจึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
กลายเป็นภาวะเลือดข้นตามมา นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติที่ลึกลงไปในระดับยีน
อันเป็นหน่วยถ่ายทอดรหัสทางพันธุกรรมของเซลล์ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “mutation”
โดยยีนที่มีความผิดปกตินั้นชื่อว่า “JAK2 V617F” แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับยีนว่ามาจากสาเหตุใดกันแน่
แก้ไขโรคเลือดข้นหนืด ได้อย่างไร ?
เมื่อพบว่าตัวเองมีภาวะเลือดข้นเกิดขึ้น ควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยด่วน แม้อาการในแรกยังไม่รุนแรง
มีเพียงภาวะเลือดข้นหนืด ทำให้เกิดการไหลเวียนในร่างกายช้ากว่าปกติ
แต่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย หากเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในจุดที่เป็นเส้นเลือดสำคัญ
อาจนำมาซึ่งอันตรายร้างแรงต่อชีวิต เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ
การรักษาแพทย์จะใช้วิธีนำเอาเลือดออกจากร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาขั้นพื้นฐานที่นิยมใช้กันมากที่สุด
เป็นตัวช่วยลดปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดให้น้อยลง ร่วมกับการให้ยาที่เป็นตัวช่วยลดจำนวนเม็ดเลือด
ควบคุมให้เกิดความสมดุล ส่วนอาการอื่นๆ อย่างอาการคัน แพทย์จะทำการรักษาตามอาการ โดยจะให้ยาแก้แพ้และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นไปพร้อมๆ กัน
Photo Credit : angiologist.com
โรคเลือดข้น ถือว่าเป็นโรคที่อาจไม่สามารถตรวจหาได้ง่ายนัก นอกจากมีอาการผิดปกติ
หรือแพทย์ได้นำเลือดไปตรวจวัดปริมาณเม็ดเลือดแดง อีกทั้งยังไม่มีวิธีป้องกัน เมื่อพบอาการจึงทำได้แค่เพียงรักษา
และเฝ้าดูอาการอย่างต่อเนื่อง ทางที่ดีสาวๆ ควรหมั่นเข้าตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งจะช่วยให้สามารถตรวจหาโรคร้ายเช่นนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น