สัญญาณเตือนก่อนป่วย ร่างกายสาวๆ กำลังขาด “ธาตุเหล็ก” หรือไม่?

โรคโลหิตจาง ภาวะขาดธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็ก (ภาษาอังกฤษ – Iron) เป็นหนึ่งในธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกาย โดยเฉพาะการช่วยรักษาสมดุลของเม็ดเลือดแดง มีความสำคัญสำหรับสุขภาพของสาวๆ เป็นอย่างมาก

เนื่องจาก มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง และโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะไม่ค่อยรู้ตัวจากอาการป่วยที่เกิดขึ้น

เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงว่า มันเกิดจากภาวะที่ร่างกายมีธาตุชนิดนี้ไม่เพียงพอ ดังนั้นหากต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ปราศจากอาการเจ็บป่วย ก็ควรทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ

และอย่าลืมอาหารที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก เป็นส่วนประกอบให้มากขึ้น โดยเฉพาะในสาวๆ ที่ยังมีประจำเดือน ธาตุชนิดนี้ถือว่า มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียวค่ะ

ความสำคัญของธาตุเหล็กกับสุขภาพ

หน้าที่สำคัญของธาตุเหล็ก ต่อการทำงานของร่างกาย คือเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นของเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะทำหน้าที่นำพาออกซิเจนให้หมุนเวียนภายในร่างกายได้อย่างเพียงพอ

มีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และส่วนประกอบในไขกระดูก จึงสังเกตได้ว่า ผู้ป่วยขาดธาตุเหล็กส่วนใหญ่ จะต้องเผชิญกับโรคโลหิตจาง หรือภาวะซีดเอาได้

นอกจากนี้ มันยังมีหน้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์สมองในส่วนของความจำ (Cognitive development) เพิ่มสมรรถภาพในการทำงานของกล้ามเนื้อ

เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ที่อยู่ในกระบวนการเมตาบอลิซึ่ม และทำหน้าที่ช่วยนำพาพลังงานที่ได้ไปใช้

ความจำเป็นของธาตุเหล็กในเพศหญิง

เนื่องจาก ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดได้มากกว่า โดยเฉพาะในวัยที่มีประจำเดือน การสูญเสียธาตุเหล็กจึงเกิดขึ้นได้ง่าย

สังเกตได้ว่า ในแต่ละเดือน จะมีเลือดประจำเดือนที่ถูกขับออกจากร่างกายประมาณ 50 มิลลิลิตร ในจำนวนนี้ ร่างกายจะมีการสูญเสียธาตุเหล็กประมาณ 25 มิลลิกรัมต่อเดือน

หากยิ่งเป็นในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรอยู่ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการสูญเสียธาตุเหล็กได้มากขึ้น ธาตุเหล็กจึงเป็นธาตุที่สาวๆ ไม่ควรมองข้าม เพื่อช่วยรักษาสมดุลการทำงานของร่างกาย

จึงควรกินอาหารที่มีธาตุชนิดนี้เป็นองค์ประกอบให้เพียงพอกับความต้องการ และหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยของตนเองที่อาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็กอย่างสม่ำเสมอ

สัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังขาดธาตุเหล็ก

ภาวะขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency) คือ ภาวะที่ร่างกายขาดธาตุเหล็ก ที่ได้รับจากการกินอาหารเป็นส่วนใหญ่

หรืออาจจะพบในกลุ่มที่มีปัญหาเลือดออกเรื้อรัง ทำให้ร่างกายสูญเสียธาตุเหล็กอย่างรุนแรง เมื่อปริมาณของธาตุชนิดนี้ในร่างกายลดลงมาก

และมักจะแสดงอาการให้เห็นเป็นภาวะซีด หรือที่เราเรียกกันว่า “โรคโลหิตจาง” โรคนี้พบได้บ่อยในกลุ่มผู้หญิงที่มีประจำเดือน ประมาณ 5-8 เปอร์เซ็นต์

อีกทั้งกลุ่มที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร และหลังการตั้งครรภ์ ร่างกายก็จะมีความต้องการธาตุชนิดนี้ สูงกว่าผู้หญิงปกติอีกด้วย

อาการที่ส่อว่าร่างกายกำลังเตือนสาวๆ ให้รับธาตุเหล็กมากขึ้น คือ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย สับสน มึนงง ปวดศีรษะ การเติบโตของเซลล์สมองช้า ทำให้เกิดปัญหาสติปัญญาต่ำ

เนื่องจากสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ใจสั่น ภูมิคุ้มกันลดลง เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย มีภาวะเสี่ยงต่อการอักเสบและติดเชื้อ

โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ผมร่วงมากขึ้นกว่าปกติ หรือบางรายอาจจะรู้สึกอยากกินอาหารรสชาติที่แปลกไปจากเดิม

โดยมีภาวะตัดซีด สังเกตได้ชัดจากเปลือกตาด้านใน บริเวณลิ้นมีอาการบวม สังเกตได้ว่า ตุ่มรับรสที่ลิ้นหายไป มีความเกลี้ยงมากกว่าเดิม

รู้สึกเคี้ยวอาหารลำบาก หากลิ้นมีอาการบวมอย่างหนัก อาจกระทบต่อการพูดสื่อสารได้อีกด้วย

อาหารสำคัญช่วยเพิ่มธาตุเหล็กให้ร่างกาย

สำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดธาตุเหล็ก ควรเลือกกินอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุชนิดนี้ให้มากขึ้น แม้ร่างกายจะต้องการมันแต่เพียงน้อยนิด

แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเม็ดเลือดแดง และเนื่องจาก ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จึงจำเป็นต้องรับจากภายนอก

ธาตุเหล็ก จะพบได้สูงในอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง อาหารทะเล ธัญพืช และผักใบเขียวเข้ม

เมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร จะถูกดูดซึมบริเวณลำไส้เล็ก โดยธาตุเหล็กที่ได้จากเนื้อสัตว์จะดูดซึมได้ง่ายกว่าพืช ยิ่งหากน้ำย่อยมีความเป็นกรดสูง ก็จะยิ่งกระตุ้นการดูดซึมให้ดีมากขึ้นตามไปด้วย

ผู้หญิงที่อยู่ในวัย 15-50 ปี มีความต้องการได้รับธาตุเหล็กประมาณ 15 มิลลิกรัม/วัน ส่วนในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับที่ 10 มิลลิกรัม/วัน เท่านั้น

ธาตุเหล็กในอาหาร Photo Credit : recipeguidesite.com

ทางที่ดีสาวๆ ก็ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นของร่างกาย โดยเฉพาะอาการซีดจางที่มักเห็นได้ชัด

เพื่อจะได้ป้องกันการเกิด ภาวะขาดธาตุเหล็ก ต้นตอที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมาให้น้อยลง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเองได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ