โรคย้ำคิดย้ำทำ OCD พฤติกรรมซ้ำซาก ที่ใครๆ ก็ไม่อยากเป็น !

อาการ โรคย้ําคิดย้ําทํา รักษายังไง pantip

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือที่เรียกกันว่า โรค OCD (obsessive-compulsive disorder) เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวช

มักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลใจกับความคิดที่ผุดขึ้นมาในสมอง โดยไม่สามารถควบคุมมันได้

แม้จะพยายามบังคับไม่ให้คิด ก็ไม่สามารถหยุดได้ ราวกับว่าความคิดนั้นไม่ได้มาจากสมองของผู้ป่วยเอง

ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเกลียดความคิดนั้นๆ เป็นอย่างมาก จนกลายเป็นความวิตกกังวล

เกิดเป็นการตบสนองทางความคิดด้วยพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อให้ช่วยลดความคิดเหล่านั้นให้น้อยลงหรือหายไป

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำอะไร มีสติรู้ว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมาด้วยลักษณะย้ำคิดย้ำทำ

เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง แถมยังไม่ให้ประโยชน์ใดๆ ต่อชีวิต กลายเป็นความเสียเวลา

แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขความคิดเหล่านั้นให้หมดไปได้ หากใครที่มีอาการในลักษณะดังกล่าวนี้

เกิดข้อสงสัยว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ สาวๆ อาจจะต้องสำรวจตัวเอง

ศึกษาข้อมูลให้แน่ชัด เพื่อจะได้รักษาและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องมากที่สุดค่ะ

ลักษณะของโรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคย้ำคิดย้ำทำ คือโรคที่อยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล (Anxiety) โดยจะแสดงออกมา เป็นพฤติกรรมย้ำคิดหรือย้้ำทำซ้ำไปซ้ำมา ความคิดจะผุดขึ้นมาในสมองโดยไม่ได้ตั้งใจ

และผู้ป่วยมักจะไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น พยายามที่จะลืม แต่กลับไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดความกลัวและกังวลตามมา

เมื่อความคิดเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะตอบสนองด้วยพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อช่วยลดความคิด เป็นอาการที่ทำส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมาน

โดยจะแบ่งลักษณะที่สำคัญอย่างเด่นชัดออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

1.อาการย้ำคิด (obsessive)

เป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องกับความคิด เกิดขึ้นเองแบบซ้ำไปซ้ำมาอย่างไร้เหตุผล ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวลใจ หวาดกลัว ไม่สบายใจ เกลียดความคิดที่เข้ามา

เช่น ความคิดซ้ำๆ ที่อยากทำร้ายคนรักตัวเอง, คิดซ้ำๆ ว่าลืมล็อคประตู หรือ คิดซ้ำๆ ว่าด่าทอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ในความคิดเหล่านี้

ผู้ป่วยจะไม่เข้าใจถึงความคิดที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน จึงไม่สามารถหาทางระงับได้ กลายเป็นการแสดงออกทางการกระทำมาแทนที่

2.อาการย้ำทำ (Compulsive)

เป็นการกระทำที่ผู้ป่วยรู้ตัว มีเป้าหมายในการทำ จะแสดงออกอย่างซ้ำไปซ้ำมาอย่างชัดเจน เป็นการป้องกันตัวเองจากความรู้สึกไม่สบายใจจากการย้ำคิด

ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเสียเวลาชีวิต เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ได้ให้ประโยชน์ ไร้เหตุผล

เช่น พยายามเดินเข้าไปเช็คว่าล็อคประตูแล้วหรือยังซ้ำๆ ,ล้างมือซ้ำๆ เพราะคิดว่ามันสกปรก เป็นต้น

รูปแบบของพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำที่ผู้ป่วยแสดงออกมาและพบเห็นได้มากที่สุดคือ

การเช็คอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดความแน่ใจอย่างซ้ำๆ, การล้างมือ, การนับสิ่งของที่พบเจอ

และการสร้างสมดุล ทำทุกอย่างให้เป็นระเบียบแบบพอดีเป๊ะๆ ผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ก็ต่อเมื่อมีความผิดปกติทางกายเกิดขึ้นก่อนเป็นส่วนใหญ่

จึงจะเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เช่น มีรอยถลอกที่มือ เพราะล้างมือบ่อยเกินไป อาการเหงือกอักเสบเพราะแปรงฟันบ่อย

หรือมีนิสัยถามเรื่องเดิมๆ ซ้ำซากไปมา ส่งผลให้เกิดการรบกวนชีวิตประจำวันของตนเอง และยังส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นภายในครอบครัวอีกด้วย

การรักษาและดูแลตัวเอง

การรักษาจะมีตั้งแต่การใช้วิธีพฤติกรรมบำบัด โดยอาศัยหลักการที่ว่า เมื่อเราพบสิ่งที่กลัว อย่าหนี แต่ให้เผชิญหน้ามัน ไม่นานความกลัวจะหายไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง

หลังจากนั้นเมื่อเราพบสิ่งเดิมอีกครั้ง แลเลือกใช้การเผชิญหน้าซ้ำๆ จะช่วยให้ความกลัวลดลง

สิ่งที่เคยกลัว ก็จะเคยชิน กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป การรักษาจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยหวาดกลัวน้อยที่สุดก่อน

ใช้เวลากับการรักษาราวๆ 1 ชั่วโมงต่อครั้ง เพื่อให้เกิดความรู้สึกชินชากับมันมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนการใช้ยาในผู้ป่วย จะเป็นการใช้ยาในกลุ่มโรคซึมเศร้า เป็นชนิดที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับสารสื่อประสาท “เซราโทนิน”

แต่หากผู้ป่วยมีอาการมาก กลัวการเข้าพบจิตแพทย์เพื่อบำบัด อาจจะต้องใช้ยาเป็นตัวช่วยไปก่อนในระยะแรก เมื่อผู้ป่วยพร้อม จึงค่อยเข้ารับการฝึกทางด้านพฤติกรรมต่อไป

โรคย้ําคิดย้ําทํา หายขาด

Photo Credit : nassauguidance.com

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยคือ การรับฟังคำแนะนำ ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และเข้ารับการรักษาตามนัดหมายทุกครั้ง

ไม่ควรหาซื้อยากินเอง หรือพยายามใช้วิธีแบบผิดๆ ในการรักษาโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากแพทย์ นอกจากนี้ คนรอบข้างยังเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน

ผู้ป่วยที่มีคนรอบข้างที่เข้าใจ พร้อมเรียนรู้และปรับตัว ไม่สร้างความกดดันให้กับผู้ป่วยมากขึ้น

ก็จะช่วยให้การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ ค่อยๆ หายเป็นปกติ จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้งได้เหมือนกับคนทั่วไปแล้วล่ะค่ะ