อ้วนง่าย ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เสี่ยงโรค PCOS โรครังไข่มีถุงน้ำหลายใบ

โรค pcos กับการตั้งครรภ์

สาวๆ ที่กำลังรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอ้วนง่าย ลงพุง เป็นสิวเยอะ มีขนขึ้นตามร่างกาย มีหนวด เหมือนผู้ชาย

จนทำให้รู้สึกหงุดหงิดใจกับอาการที่แสดงออกมา แถมยังพบกับภาวะผิดปกติของประจำเดือน

ที่ไม่ตรงตามรอบ มาๆ หายๆ มากระปิดกระปอย หรืออาจจะมีประจำเดือนเพียงแค่ 2-3 ครั้งในรอบปีเท่านั้น

หากพบอาการเหล่านี้ อาจจะต้องสงสัยตัวเองกันก่อนแล้วว่ากำลังป่วยเป็นโรค PCOS หรือไม่

เพราะโรคนี้จัดได้ว่าเป็นภัยเงียบที่สาวๆ มักมองข้าม กว่าจะรู้ตัวไปหาหมอ อาจจะกลายเป็นโรคร้ายที่สายเกินแก้แล้วก็เป็นได้ค่ะ

ทำความรู้จักกับโรค PCOS

PCOS เป็นชื่อย่อของโรค Polycystic Ovarian Syndrome หรือ โรครังไข่มีถุงน้ำหลายใบ

จัดว่าเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่รังไข่มีปริมาณถุงน้ำหลายใบเกาะอยู่ภายใน

จึงเรียกชื่อโรคตามลักษณะที่ปรากฏ ถุงน้ำขนาดเล็กเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “ซีสต์ – Cyst” พบได้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์

ในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเท่านั้น

ส่งผลให้การตกไข่ในรังไข่ไม่สมบูรณ์เต็มที่ ปกติไข่ของผู้หญิงจะตกตรงรอบวันหรือคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยในทุกๆ เดือน

แต่หากคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ไข่ที่สุกจะไม่ตกแบบเรื้อรัง ซึ่งหากอุลตราซาวน์ดูภายใน

จะพบกับถุงน้ำเล็กๆ จำนวนมากภายในรังไข่ อีกทั้งยังสามารถตรวจพบฮอร์โมนแอนโดเจน

ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายในปริมาณสูงอีกด้วย ด้วยความผิดปกติของระบบฮอร์โมน

ยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติข้างเคียงอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นสิวเห่อ ขนดก มีบุตรยาก เป็นต้น

โรคนี้จัดได้ว่าเป็นภัยเงียบ อาการที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง แต่การปล่อยทิ้งไว้โดยไม่เข้ารับการรักษา

เสี่ยงที่โรคนี้จะกลายสภาพเป็นมะเร็งร้าย และโรคเบาหวานที่มีอาการของโรคหนักกว่าคนป่วยเบาหวานทั่วไปอีกด้วย

สาเหตุของการเกิดโรค PCOS

PCOS เป็นโรคที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ในปัจจุบัน

จากการสังเกตของแพทย์ที่ทำการรักษา เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น หลักๆ ที่มักจะเป็นสาเหตุอันดับแรกคือ

ลักษณะทางกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยเป็น PCOS มาด้วยแล้ว

ก็จะยิ่งทำให้ลูกหลานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้มากขึ้นกว่าคนทั่วไป

โดยลักษณะการเกิดขึ้นของโรคนี้ จะมาจากการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งรอบเดือนปกติจะอยู่ที่ 28+7 วัน

ก่อนไข่ตกคือครึ่งหนึ่งของรอบประจำเดือน รังไข่จะทำการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัวขึ้น

โดยมีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นตัวกระตุ้น เยื่อหุ้มนี้จะทำหน้าที่รองรับไข่ที่ตกลงมาให้มีพื้นที่ยึดเกาะ

หากไข่ไม่ถูกผสม จะหลุดลอกออกไปพร้อมกับประจำเดือน หลังไข่ตกในระยะนี้ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้รังไข่พร้อมสมบูรณ์สำหรับการตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีกรตั้งครรภ์เกิดขึ้น

รังไข่จะทำงานต่อไปเพียงแค่ 10-12 วัน จากนั้นฮอร์โมนจะหยุดสร้าง และภายใน 2-3 วัน

เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้ก็จะหลุดลอกออกมา หากเป็นวัฏจักรที่สาวๆ มีภาวะของโรคนี้อยู่

จะพบว่า ร่างกายไม่มีการสร้างโปรเจนเตอโรนขึ้นมา เนื่องจากจะไม่มีการตกไข่ แต่จะมีเพียงแค่ฮอร์โมนเอสโตรเจนเกิดขึ้นเท่านั้น

ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่ถูกกำจัดออก เกิดการหนาตัวสะสมกันไปเรื่อยๆ และพบว่าผู้หญิงในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่

จากที่มีประจำเดือนมาแบบกระปิดกระปอย ก็จะไม่มีประจำเดือนออกมาอีกเลยแบบเรื้อรัง

อาการของโรคที่พบได้ทั่วไป

เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง บางรายอาจจะแสดงอาการออกมาชัดเจน

แต่บางรายก็แทบจะไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็น อีกทั้งอาการของโรคไม่รุนแรง ส่วนมากไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ เกิดขึ้น

ทำให้เรามองข้ามสุขภาพของตัวเองไป แต่กลับมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว ความผิดปกติจะเพิ่มมากขึ้น

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้นอาการที่สาวๆ ควรสังเกตตัวเองให้ดีว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้หรือไม่

คือ เบื้องต้นจะมีประจำเดือนผิดปกติ เป็นตัวสังเกตที่ชัดเจนที่สุดในกลุ่มโรคนี้ เนื่องจากปริมาณของถุงน้ำหลายใบ

ทำให้ระบบการเจริญพันธุ์ผิดปกติไปจากเดิม ประจำเดือนผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ หลายๆ เดือนจะมีประจำเดือนมาสักครั้งหนึ่ง

ปริมาณเลือดที่ออกมาจะมากและนานกว่าปกติ บางคนที่มีภาวะรุนแรง จะทำให้ประจำเดือนขาดหายไปเป็นปีๆ ได้

หรืออาจจะมีประจำเดือนแบบกระปิดกระปอย ชนิดที่ต่อเนื่องกัน 10-20 วันกันเลยทีเดียว บางกลุ่มมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน อ้วนง่าย ดื้อต่ออินซูลิน

ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต เป็นสิวและผิวมัน เนื่องจาก มีปริมาณฮอร์โมนเพศชายสูง

พบขนตามแขน ขา ลำตัว มีหนวดขึ้นที่ใบหน้า ศีรษะล้าน มีเสียงห้าว และผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังพบว่า

มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก เนื่องจากฮอร์โมนเพศที่เสียสมดุล ทำให้ไข่ไม่ตก อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวข้างต้น

ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีครบเหมือนกัน บางรายอาจมีเพียงแค่ประจำเดือนผิดปกติ บางคนอาจมีประจำเดือนมา

แต่ในปริมาณน้อยมากๆ หรือบางคนก็แทบจะไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็นเลย

จนกระทั่งพยายามจะมีบุตรและเข้ารับการตรวจจากแพทย์จึงได้ทราบในภายหลัง

ควรพบแพทย์และดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อป่วยเป็นโรค PCOS

สาวๆ อย่างเพิ่งตกใจหากป่วยเป็นโรคนี้ เพราะหากดูแลตัวเองและเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ

ก็จะช่วยให้อาการรุนแรงของโรคในอนาคตมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ที่น่ากังวลส่วนใหญ่

สาวๆ มักไม่ค่อยรู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ดังนั้นทางที่ดีคือการเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อพบว่าเป็น PCOS การดูแลตัวเองในเบื้องต้น คือการลดความอ้วน ควบคุมอาหารเพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน

ซึ่งสาวๆ ที่มีน้ำหนักตัวลดลงจะทำให้ฮอร์โมนกลับมาทำงานได้ดีขึ้น พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความตึงเครียด จากนั้นก็เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อการดูแลตัวเองในระยะยาว

โดยแพทย์จะมีการให้ยาทานแบบต่อเนื่อง พร้อมกับการนัดตรวจอาการอย่างสม่ำเสมอ

ยาส่วนใหญ่ที่ให้มาจะเป็นยาที่ฮอร์โมนอยู่ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรวม ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่แพทย์เลือกใช้

หรือยาฮอร์โมนโปรเจสติน ที่เน้นกินเป็นรอบๆ ใช้สำหรับแก้ปัญหาประจำเดือนขาดในระยะยาว

ลดความเสี่ยงไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว และบางคนจะได้ยาต้านเบาหวาน Metformin

โรค pcos อาการ

Photo Credit : webmd.com

ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการตั้งครรภ์ได้บ้าง อาการต่างๆ กลับมาดีขึ้น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการมีบุตรนั่นเอง

โรค PCOS จัดได้ว่าเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อเกิดขึ้นในช่วงแรกจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรง แต่จะส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว

ทางที่ดีคือ การเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตให้น้อยที่สุดนั่นเองค่ะ