แต่ละปีจะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยราวๆ 8 แสนราย และเกือบ 80% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในนั้น
ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า ทุก ๆ 40 วินาที จะมี 1 ชีวิตที่มอดดับ และในระหว่างที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ก็จะมีอีกหนึ่ง และอีกหนึ่ง และอีกหลายสิบหนึ่งชีวิต อำลาโลกใบนี้ไปอย่างขมขื่น
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข เปิดเผย วิธีการสังเกตอาการเสี่ยงฆ่าตัวตาย บนโลกโซเชียล หลังจากมีข่าวการฆ่าตัวตายของดาราชายท่านนึง พร้อมแนะนำวิธีช่วยเหลือเบื้องต้น ให้คนรอบข้างหรือคนใกล้ชิดพึ่งสังเกตพฤติกรรมดังกล่าว
5 สัญญาณเตือน เสี่ยงมีพฤติกรรม ฆ่าตัวตาย บนโลกโซเชียล
1. การโพสต์ข้อความสั่งเสียเป็นนัยๆ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน
2. โพสต์ข้อความพูดถึงความตาย หรือไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว
3. โพสต์ข้อความว่า ตนเองรู้สึกผิด รู้สึกตนเองล้มเหลว รู้สึกหมดหวังในชีวิต
4. โพสต์ข้อความพูดถึงความเจ็บปวด
5. โพสต์ข้อความว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น
กว่าที่คน ๆ หนึ่งจะไปถึงจุดที่ฆ่าตัวตายได้ มันมีปัจจัยหลายอย่างเข้าไปกระตุ้น แต่ทุกวันนี้เรามักคุ้นชินการนำเสนอในทิศทางเดียว ว่าการฆ่าตัวตายเป็นผลมาจากโรคซึมเศร้า ถูกรังแก หรือโดนบูลลี่
แต่ก็คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในแต่ละวันเราต้องเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ที่นำมาซึ่งความเครียด-ความกดดัน ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ การหาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาการตกงาน รวมถึงการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มีความรุนแรง
ดังนั้น เมื่อเห็นสัญญาณเตือนเหล่านั้น สิ่งที่เราทุกคนควรปฏิบัติ คือ
1. แสดงความเต็มใจช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ
2. ยอมรับว่า สิ่งที่โพสต์นั้นเป็นปัญหาของเขาจริงๆ
3. ให้กำลังใจ สร้างความหวัง ให้เห็นว่า ปัญหาสามารถแก้ไขและผ่านไปได้
4. พิมพ์ข้อความให้คำปรึกษา ปลอบใจให้มีสติค่อยๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา
5. ชักชวนให้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอก อย่าให้อยู่ลำพังคนเดียว
6. ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ให้บอกญาติเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด
7. แนะนำช่องทางในการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้คำปรึกษา
8. ติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่เท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ สำหรับวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยทั่วไป ขอให้คอยสังเกตสัญญาณเตือนคนรอบข้าง หากพบว่า มีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ มีความคิดอยากตาย หมดหวังในชีวิต
สำหรับโรคทางจิตเวชนั้นมีหลายโรค อาทิ กลุ่มโรคจิต (psychotic disorders) ได้แก่ โรคที่มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ความคิดหลงผิด หรือพฤติกรรมแปลก ๆ ที่ไม่สมเหตุผล โดยผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้จะไม่สามารถแยกแยะความจริงได้ ฉะนั้นส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังป่วย
ขณะที่ผู้ป่วยด้วยกลุ่มโรคอื่น ๆ เช่น กลุ่มโรคทางอารมณ์ (mood disorders) ได้แก่ โรคซึมเศร้า (depressive disorders) โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorders) รวมไปถึง กลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorders) มักจะรู้ตัวว่าตัวเองกำลังผิดปกติไปจากเดิม
ซึ่งเป็น อาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้า และเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง เพียงแค่เรารับฟังกันและกันอย่างเข้าใจ ไม่ตัดสิน ให้ได้พูดคุยระบายความรู้สึกคลายความทุกข์ ในใจ จะทำให้เกิดกำลังใจ ความสบายใจ สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะการรับฟังนั้นเป็นพลังที่ดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข