โซเดียม (Sodium) ถือว่าเป็นสารอาหารอย่างหนึ่งในร่างกายที่อยู่ในรูปของเกลือแร่ แม้ทัศนะคติของคนทั่วไปจะคิดว่าโซเดียมคือสารพิษสำหรับร่างกาย
นั่นก็เป็นเพราะปริมาณปริมาณอาหารที่เรากินกันอยู่ในปัจจุบัน มีปริมาณเกลือแร่ชนิดนี้อยู่สูง จนทำให้มันเข้าสู่ร่างกายมากเกินความต้องการ
แต่ในความเป็นจริง มันคือสารอาหารที่มีความสำคัญต่อกระบวนการทำงานของระบบต่างๆ
ทว่าหากได้รับมากเกินไปเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่านั่นส่งผลให้ร่างกายพยายามขับสารส่วนเกินออก
อีกทั้งยังมีผลกระทบข้างเคียง ซึ่งการรับโซเดียมต่อเนื่อง นานวันเข้า ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพของสาวๆ ในระยะยาวได้นั่นเองค่ะ
โซเดียมคืออะไร ?
โซเดียม เป็นหนึ่งในเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีผลต่อการเจริญเติบโต หน้าที่หลักของมันคือการเข้าไปปรับสมดุลของเหลว
ช่วยรักษาความดันเลือด ช่วยรักษาการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงกล้ามเนื้อหัวใจ
อีกทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการดูดซึมอาหารผ่านทางลำไส้เล็กและไต ช่วยให้แคลเซียมและธาตุบางชนิดสามารถละลายในเลือดได้
โซเดียมที่เกินมาจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะ ซึ่งแม้จะเป็นตัวช่วยควบคุมความดันเลือด แต่การได้รับมากเกินไป ก็จะส่งผลให้เกิดความดันเลือดสูงตามมาได้
เราสามารถพบโซเดียมได้จากแหล่งอาหารธรรมชาติ โดยเฉพาะ เกลือ กุ้ง ปู ไต เบคอน ผักผลไม้ อย่าง แครอท อาร์ติโชก หัวบีต
ซึ่งยังพบปริมาณโซเดียมได้ในอาหารแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง ไส้กรอก ขนมปัง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ผงชูรส น้ำและเครื่องดื่ม และเครื่องปรุงอาหาร เป็นต้น
อาการของคนที่ได้รับโซเดียมมากเกินไป
เมื่อโซเดียมเข้าสู่ร่างกายเกินสัดส่วนที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งจะอยู่ที่ปริมาณที่สูงกว่า 145 mmol/L เรียกกันว่า Hypernatremia ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นมันจะถูกขับออกด้วยกระบวนการทำงานของไต ผ่านทางปัสสาวะ ซึ่งอาการของผู้ที่ได้รับโซเดียมเกิน
จะมีผลทำให้เกิดความดันเลือดสูง เกิดภาวะบวมน้ำ มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึม รู้สึกกระหายน้ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
หากได้รับในปริมาณสูงจนเข้าขั้นเสี่ยงอันตราย อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด หัวใจล้มเหลวตามมาได้
การได้รับโซเดียมมากเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลให้ไตต้องทำงานหนักเพื่อขับเอาส่วนเกินออกไป
ทำให้ไตเสื่อมสภาพเร็ว มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตตามมาได้อีกด้วย
การรับประทานโซเดียมให้เพียงพอกับร่างกาย
ปริมาณโซเดียมที่เพียงพอสำหรับร่างกาย แม้จะยังไม่ขนาดที่ควรกินให้พอดีในแต่ละวัน
ทว่าทางที่ดีที่สุด คือหากเป็นผู้ใหญ่ควรได้รับที่ 230 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (ปริมาณสูงสุดที่องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้คือ 2,500 มิลลิกรัม )
แต่ด้วยลักษณะการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน หันไปทางไหนก็เจอแต่อาหารที่มากด้วยโซเดียม ดังนั้นการลดปริมาณเกลือให้ได้มากที่สุด จะถือเป็นเรื่องดี
เพราะหากลองคำนวณมื้ออาหารในแต่ละวันของเราดู จะพบเรื่องน่าตกใจว่า เมนูตามสั่งทั้งหลายตามร้านอาหาร
อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง หรือจานด่วนทั้งหลาย ที่รวมไปถึงเหล่าฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) จะมีปริมาณโซเดียมสูงมาก
แน่นอนว่าใครที่รับประทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำทุกวัน แทบเลี่ยงไม่ได้เลยว่าตัวเองได้รับโซเดียมสูงอย่างต่อเนื่องแบบไม่รู้ตัว
Photo Credit : foodnavigator-usa.com
สาวๆ ที่ไม่อยากมีปัญหาเจ็บป่วยตามมาในอนาคตเพราะเจ้าปริมาณโซเดียมในอาหารที่เรากินเข้าไปแบบไม่รู้ตัว มันซ่อนเร้นอยู่ในส่วนผสมมากมายจนแยกไม่ออก
ทางที่ดี ลองหันมากินอาหารที่ปรุงด้วยตัวเอง กินอาหารรสจืด เน้นผักและผลไม้ตามธรรมชาติ ที่มีโซเดียมเพียงพอกับร่างกายในแต่ละวันแล้ว
ก็จะช่วยลดปัญหาสุขภาพในระยะยาวจากภาวะโซเดียมเกิน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ห่างไกลจากโรคไตได้มากขึ้น