สาวๆ อาจจะเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้วกับโรค TMD ซึ่งเป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติของกล้ามเนื้อบดเคี้ยว
หากใครที่รู้สึกว่า ตัวเองมีปัญหาการเคลื่อนไหวปาก เช่น การหาว เคี้ยว หรือ อ้าปาก
จนทำให้เกิดอาการปวดอยู่บ่อยครั้ง อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคนี้ ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อ
เรายังพบอีกว่า ในผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง
เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถรักษาไม่ให้อาการรุนแรงได้ อีกทั้งอาการปวดยังปรากฏให้เห็นเป็นครั้งคราวเท่านั้น
แต่การรักษาให้หายขาดย่อมดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้เรื้อรัง จนทำให้กลายเป็นโรคที่มีอันตรายต่อไปในอนาคต
สาวๆ ที่มีอาการปวดเมื่อยเวลาเคลื่อนไหวปาก อาจจะลองมาเช็คสุขภาพกล้ามเนื้อบดเคี้ยวของตัวเองสักหน่อย
ว่ามีสาเหตุมาจากโรคนี้กันหรือไม่ จะได้ทำการรักษาให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันความยุ่งยากที่จะทำให้โรครุนแรงตามมานั่นเองค่ะ
ทำความเข้าใจกับโรค TMD
โรค TMD มีชื่อเต็มๆ ว่า Temporomandibular disorders คือโรคที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและส่วนของขากรรไกร
ซึ่งมักจะถูกใช้งานมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ ที่สำคัญยังเป็นส่วนที่มีความซับซ้อน
การเชื่อมต่อของกระดูกขากรรไกร จะเชื่อมต่อกันกับกรรไกรด้านล่างและกระดูกที่อยู่ด้านข้างศีรษะ
เราจะสามารถเคลื่อนไหวปาก ด้วยการอ้า หาว พูดหรือเคี้ยวอาหารได้
โดยมีกล้ามเนื้อยึดติดขากรรไกร ช่วยควบคุมตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรล่าง
ในขณะเคลื่อนไหวจะมีกระดูกทรงกลมที่เรียกว่า “คอนดิล” เป็นข้อต่อที่จะลื่นไหลตามเบ้าข้อต่อกระดูกขมับ
และจะเคลื่อนกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมเมื่อเราหุบปากลง การเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
ทำให้เราขยับปากได้อย่างอิสระ ไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือติดขัดใดๆ เมื่ออยู่ในสภาวะปกติ
แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดความไม่ราบรื่นขึ้นจนส่งผลให้ข้อต่อทำงานได้ไม่ดี ซึ่งมักจะมาจากพังผืดที่เกาะตัวอยู่บริเวณกระดูก
ข้อต่อทรงกลมมีปัญหาในการเคลื่อนไหวจากตำแหน่งปกติ หรือเกิดขึ้นจากโรคข้อต่อเสื่อมหรืออักเสบ
ทำให้อาการที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล จะมีความแตกต่างกันออกไป
บางรายมักพบว่า มาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังกล่าว แต่บางรายอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุทั้งหมดร่วมกัน
ลักษณะอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนี้ คืออาการปวดที่จะเป็นต้นตอให้ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์
ซึ่งตำแหน่งที่ปวดมักจะเป็นบริเวณ กราม หน้าหู ขมับ และสามารถปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อขากรรไกรกำลังเคลื่อนไหว
ยิ่งหากเป็นการขยับที่เข้าไปกดทับบริเวณนั้นมากขึ้น อาการปวดก็จะยิ่งรุนแรงถึงขั้นปวดร้าวไปที่คอและแผ่นหลังได้อีกด้วย
อาการต่อมาที่พบคือความสามารถในการอ้าปากถูกจำกัด ไม่สามารถเคลื่อนขากรรไกรได้ตามปกติ
บางรายอาจมีปัญหาขากรรไกรค้าง มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น
และอีกอาการที่มักพบได้บ่อยคือเสียงดังที่เกิดขึ้นจากข้อต่อทรงกลม ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวอ้าปาก หุบปาก
เป็นเสียงดัง “คลิก” หรือ “กรอบแกรบ” และอาจมาพร้อมกับอาการปวดเสียวได้ในช่วงที่ขยับปาก
สาเหตุของการเกิดโรค TMD
โรคนี้ยังเป็นสิ่งที่คลางแคลงใจในการหาสาเหตุอยู่ แพทย์ยังไม่พบข้อสันนิษฐานโดยตรงที่จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคนี้
ซึ่งบางรายเข้ารับการรักษาด้วยอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันโดยไม่มีสัญญาณเตือนบอกล่วงหน้า
แต่สังเกตว่าก่อนหน้านี้จะมีประวัติการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับขากรรไกรมาก่อนเสียส่วนใหญ่
การบาดเจ็บของข้อต่อและกระดูกบริเวณขากรรไกร จึงเป็นสาเหตุอันดับใหญ่สุดที่จะทำให้เกิดความผิดปกติของโครงสร้างได้
ไม่ว่าจะเป็นการถูกกระแทกอย่างรุนแรง การถูกต่อยจนทำให้กระดูกข้อต่อร้าว
แผ่นข้อต่อทรงกลมที่เคยเคลื่อนไหวไปมาอย่างราบรื่นถูกทำลาย จนทำให้เกิดอุปสรรค
ตามมาด้วยอาการปวด ขากรรไกรค้าง และเสียงดังคลิกดังกล่าว อีกสาเหตุที่เชื่อกันว่าเป็นต้นตอกระตุ้นทำให้เกิดโรคนี้คือ “ความเครียด”
แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง แต่เมื่อเป็นแล้วจะยิ่งทำให้โรคนี้รุนแรงมากขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของแพทย์ก็ยังไม่สามารถระบุลงไปได้แน่ชัดว่า สาเหตุเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับโรค TMD
แต่ที่มักพบคือ แผ่นวงกลมบางๆ ที่อยู่ระหว่างข้อต่อคอนทิลและกระดูกขมับ
ซึ่งเป็นตัวทำหน้าที่ช่วยลดการกระแทกทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกขากรรไกร
ตามมาด้วยอาการผิดปกติและความเจ็บปวดจนต้องเข้ารับการรักษาหากมีอาการที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น
การวินิจฉัยและรักษาโรค TMD
เนื่องจากอาการของโรคนี้ ยังไม่มีสาเหตุที่บ่งชี้ได้มั่นใจว่า ผู้ป่วยจะเข้ามารับการรักษาด้วยโรค TMD
อีกทั้ง การวินิจฉัยยังมีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้แพทย์ไม่กล้าระบุลงไปได้อย่างมั่นใจว่าผู้ป่วยมีสาเหตุที่เกิดอาการเหล่านั้นจากอะไร
การวินิจฉัยจึงต้องทำการรวบรวมอาการที่เกิดขึ้น การตรวจหาความผิดปกติเชิงโครงสร้างของกระดูกขากรรไกรและกล้ามเนื้อ
ลักษณะสรีระขั้นพื้นฐานของใบหน้า ซึ่งแพทย์จะนำไปใช้ในการวิเคราะห์โรคต่อไป
การรักษาจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากที่สุด และใช้วิธีรักษาที่ไม่มีความยุ่งยาก
สามารถเปลี่ยนกลับไปมาได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะสามารถลงมือทำได้ ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาจากแพทย์
ส่วนมากไม่ได้มีอาการที่รุนแรง ดังนั้นการรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานเป็นหลัก
เพื่อบรรเทาอาการปวดที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินอาหารอ่อนนิ่ม
การใช้วิธีประคบอุ่นๆ ไปที่ขากรรไกรเพื่อให้อาการปวดทุเลา หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวขากรรไกรอย่างรวดเร็วหรือรุนแรง
ลดความตึงเครียดของตัวเอง และจะมีการใช้วิธีบำบัดยืดกล้ามเนื้อแบบเบาๆ
ร่วมกับยาลดการอักเสบ และยาคลายกล้ามเนื้อในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
Photo Credit : webmd.com
อย่างไรก็ตามโรค TMD อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากแพทย์จะต้องรักษาตามอาการอย่างง่ายที่สุด
ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ลดอาการปวดและสามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรได้ดีขึ้น