อาการบวมน้ำ เป็นสิ่งที่สาววัย 40 ปีขึ้นไปมักจะกังวล เพราะอาจจะทำให้ดูอ้วนเหมือนกับการอ้วนด้วยไขมันทั่วไป
ซึ่งการลดภาวะบวมน้ำเราสามารถทำได้ไม่ยาก แต่ก่อนอื่นเราไปดูกันก่อนนะคะว่า อาการบวมน้ำ คืออะไร และมีวิธีรับมือแก้ไขอย่างไรบ้าง?
อาการบวมน้ำ คืออะไร?
อาการบวมน้ำ (edema) คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมน้ำหรือน้ำเหลืองอยู่ในเนื้อเยื่อปริมาณมาก
จึงทำให้ร่างกายเกิดการบวมในแต่ละส่วน โดยบริเวณของร่างกายที่มักจะเกิดอาการบวมนั้น เช่น ข้อเท้า เท้า แขน และขา
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวมน้ำส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากการนั่งนานๆ และอาจจะมาจากการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานเช่นกัน
สาเหตุของอาการบวมน้ำ
สำหรับสำหรับอาการบวมน้ำมีสาเหตุหลากหลาย ดังนี้
– นั่งหรืออยู่ในตำแหน่งเดิมๆ นานมากเกินไป
– รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด ทำให้โซเดียมที่เป็นสารอุ้มน้ำในร่างกายมีปริมาณมาก และเกิดการสะสมของน้ำ จนทำให้เกิดภาวะตัวบวม
– หลอดเลือดติดเชื้อ ทำให้หลอดลือดอักเสบและเกิดการอุดตันของน้ำเหลือง
– การฉายรังสี
– การใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
วิธีลดอาการบวมน้ำ
สำหรับวิธีลดอาการบวมน้ำในคนอายุ 40 ขึ้นไป สามารถทำได้ดังนี้
1.จำกัดการทานเกลือ
เนื่องจากในปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปถือเป็นทางเลือกของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะคนวัยอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะความสะดวกสบาย หาทานง่าย
แต่อาหารดังกล่าวก็มักจะมีส่วนประกอบของเกลือในปริมาณมาก ซึ่งภายในเกลือมักจะมีส่วนประกอบของปริมาณโซเดียมสูง
สารโซเดียมเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะทำให้เนื้อเยื่อกักเก็บน้ำเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก โดยปกติแล้ว ร่างกายไม่ควรที่จะได้รับปริมาณของโซเดียมมากกว่า 2,300 มิลลิกรัม
หรือจะเรียกได้ว่าเป็นปริมาณเกลือ 1 ช้อนชา ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ
ก็จะช่วยจำกัดปริมาณโซเดียมสู่ร่างกายไม่ให้มีมากเกินไป โดยมีเทคนิคในการทานดังนี้
ขนมถุง : ภายในขนมถุงหรือขนมกรุบกรอบสำเร็จรูป มักจะมีการใส่ผงชูรสในปริมาณมาก เมื่อทานเข้าไปก็จะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมปริมาณสูง
อาหารแปรรูป : อาหารแปรรูปไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ควรที่จะต้องหลีกเลี่ยง เพราะเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือในปริมาณมากเช่นเดียวกัน
เครื่องปรุง : เกลือหรือโซเดียมยังเป็นส่วนผสมหนึ่งในเครื่องปรุงอาหารหลากหลายชนิด วิธีหลีกเลี่ยงที่ง่ายที่สุด คือ ควรเลือกใช้สมุนไพรในการปรุงอาหาร
เพื่อเป็นการเพิ่มรสชาติแทนการใช้เครื่องปรุงทั่วไป หรือปรุงแต่งรสชาติให้น้อยลงกว่าปกติก็จะช่วยลดปริมาณโซเดียมในร่างกายลงได้แล้ว
2.ดื่มน้ำให้มากๆ
การดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอจะช่วยกำจัดของเหลวซึ่งเป็นของเสียในร่างกายให้ค่อยๆ หลุดออกไป
แน่นอนว่าโซเดียมในร่างกายที่มีอยู่ปริมาณมากก็ย่อมเจือจางลงตามไปด้วย และทำให้ร่างกายสามารถปรับสมดุลของน้ำ
ในปริมาณที่เหมาะสมได้ แนะนำให้ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตรต่อวัน ก็จะช่วยลดอาการบวมน้ำลงได้
3.สมดุลสารอาหาร
การรับประทานอาหารให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายถือเป็นเรื่องสำคัญ และควรเน้นอาหารที่มีสารช่วยลดการอักเสบ
และช่วยลดอาการบวมน้ำ โดยเลือกทานอาหารที่มีวิตามินบี ธาตุเหล็ก และกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้ ได้แก่
- ผักใบเขียว
- ธัญพืช
- ถั่วเปลือกแข็ง
- ปลา
- อาหารทะเล
4.เดินเพื่อขยับร่างกายให้เคลื่อนไหวบ่อยๆ
การเดินถือเป็นรูปแบบการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยให้ร่างกายได้ออกกำลังกายทุกส่วน ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต
และระบบน้ำเหลืองภายในร่างกาย ทำให้การระบายน้ำเหลืองหรือของเสียออกจากร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ไม่ทำให้เกิดการสะสมของน้ำไปตามเซลล์ต่างๆ
โดยอาจจะต้องแบ่งระยะเวลาเป็นเดินทุกชั่วโมง หรืออาจจะเป็นการเดินไปทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น การเติมน้ำ การส่งเอกสาร หรือเข้าห้องน้ำ
5.นวดบำบัด
การใช้วิธีบำบัดด้วยการนวดถือเป็นทางเลือกที่ดีให้กับผู้ที่ต้องการรักษาอาการบวมน้ำ เพราะการนวดเป็นอีกวิธีหนึ่ง
ที่จะกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและระบบน้ำเหลือง อีกทั้งยังเป็นการช่วยระบายของเหลวทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกาย
ให้ค่อยๆ ถูกขับออกไปจนทำให้อาการบวมน้ำลดลง ซึ่งสามารถเข้ารับการนวดจากร้าน หรือจะนวดบำบัดด้วยตัวเองก็ได้เช่นกัน
แต่จะต้องนวดเข้าหาหัวใจเพื่อเป็นการระบายน้ำเหลืองในร่างกายให้ถูกขับออกไปได้อย่างถูกต้อง
6.การฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นวิธีแบบแพทย์แผนจีน ซึ่งจะต้องเลือกใช้บริการแพทย์ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้โดยเฉพาะ
เนื่องจากการฝังเข็มจะต้องฝังไปตามจุดสำคัญของร่างกาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาทและเส้นต่างๆ เพราะหากเกิดความผิดพลาดก็จะส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้
อย่างไรก็ตาม การฝังเข็มก็ถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยระบายของเหลวในร่างกายให้สามารถไหลเวียนออกไปได้อย่างเหมาะสมและสมดุล
7.การดื่มชา
เทคนิคการดื่มชาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยลดอาการบวมน้ำของร่างกายได้ เพราะเป็นการใช้พืชสมุนไพรเพื่อขับปัสสาวะ
และของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย แต่การดื่มชาเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นจะต้องมีการปรึกษาแพทย์ก่อนอย่างละเอียด
เนื่องจากบางรายอาจจะมีอาการแพ้สมุนไพรบางชนิด โดยชาที่เหมาะจะใช้เพื่อการลดอาการบวมน้ำ เช่น
- ชาแดนดิไลออน
- ชาคาโมไมล์
- ชากระวาน
- ชาใบยี่หร่า
- ชาผักชีฝรั่ง
8.ยกขาให้สูง
เนื่องจากขาถือเป็นส่วนที่เกิดการบวมได้ง่ายมากที่สุดจากการสะสมของของเหลวภายในร่างกาย ดังนั้น ควรที่จะต้องพาดขาให้สูงในขณะนอนหลับหรือนอนเล่น
โดยระดับความสูงของขาจะต้องสูงกว่าระดับหัวใจเพียงเล็กน้อย หรืออาจจะทำเพียงแค่ 30 นาที วันละ 3-4 ครั้ง
9.หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และบุหรี่
แอลกอฮอล์ บุหรี่ และเครื่องดื่มคาเฟอีน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะทำให้ร่างกาย
ไม่สามารถขับของเหลวส่วนเกินออกไปได้อย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน แอกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
หรือลดปริมาณให้น้อยลงมากที่สุด ที่สำคัญควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อชำระล้างของเสียให้หลุดออก และเพื่อช่วยปรับสมดุลของเหลวในร่างกายด้วยนั่นเอง
10.บำบัดด้วยน้ำ
วิธีการบำบัดด้วยน้ำอาจจะไม่ใช่เทคนิคลดอาการบวมน้ำที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยวิธีดังกล่าวจะเป็นการนวดที่คล้ายกับการนวดบำบัด
เพียงแต่จะใช้น้ำในการนวด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลืองและของเหลวภายในร่างกายได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นและขยายหลอดเลือดน้ำเหลืองให้สามารถไหลเวียนได้ดีมากขึ้น ซึ่งการบำบัดด้วยน้ำจะต้องใช้น้ำเย็นในการเริ่มต้น
โดยไล่จากล่างขึ้นมาด้านบน (จากเท้าขึ้นมา) หลังจากนั้นจึงจะเปลี่ยนเป็นน้ำอุ่นค่อนร้อนเล็กน้อย โดยเริ่มจากด้านล่างขึ้นมาด้านบนเช่นเดียวกัน
หลังจากนั้นให้กลับไปใช้น้ำเย็นตามแบบวิธีเดิมอีกรอบ ก็จะช่วยกระตุ้นระบบน้ำเหลืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Credit : wonjinthailand.com
ภาวะบวมน้ำ สามารถเกิดขึ้นไปกับคนทุกวัย แต่สำหรับ คนอายุ 40 ปี ขึ้นไป อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายก็เริ่มทำงานช้าลง
กระบวนการกำจัดของเสียก็พลอยทำงานช้าลงตามด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงควรใส่ใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง
โดยควรหลีกเลี่ยงการกินรสเค็มมากเกินไป ลดปริมาณการเกินเค็มให้น้อยลง กินผักผลไม้และดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น
พร้อมหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดอาการบวมน้ำลงได้ และยังทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ดูอ้วนอีกด้วย