อาการชา ปวดสะโพกร้าวลงขา ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเกิดขึ้นจากหมอนรองกระดูกทับเส้นเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อช่วงล่างของร่างกายเกิดอาการดังกล่าวขึ้นมา
แพทย์หรือผู้ป่วยเองก็มักจะเข้าใจตรงกันว่า มาจาสาเหตุนี้ จนทำให้เกิดการรักษาแบบผิด อาการดังกล่าวจึงไม่ยอมหายไปซักที
หากลองสังเกตอีกหนึ่งโรคที่ถูกมองข้าม เรียกกันว่า โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome)
มีอาการใกล้เคียงกับภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นเป็นอย่างมาก ซึ่งโรคนี้มักไม่ค่อยมีคนรู้จัก ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจกับอาการที่เกิดขึ้น
ควรรู้จักการแยกแยะโรคอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้เกิดการรักษาอย่างตรงจุด ผู้ป่วยจะได้หายจากอาการปวด และกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้งนั่นเองค่ะ
ปวดสะโพกร้าวลงขา จากโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทเป็นอย่างไร?
อาการปวดสะโพก ที่มักจะชาร้าวลงไปถึงขา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต่างเข้าใจกันว่าเป็น อาการชาที่มาจากเส้นประสาทที่หมอนรองกระดูกถูกกดทับ
แต่เมื่อทำการตรวจร่างกายแล้ว กลับไม่พบความผิดปกติดังกล่าว ซึ่งแพทย์จะพุ่งเป้าไปที่โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
ที่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่มาหาหมอด้ วยอาการเหล่านี้แทบไม่เคยได้ยินชื่อโรคมาก่อน
การแยกแยะโรคนี้ ออกจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน
ขนาดที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง ยังมีโอกาสผิดพลาดในการวินิจฉัยได้สูงมากๆ
การซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ซึ่งจะพบว่าอาการจะเริ่มปวดจากบริเวณสะโพกลงมาก่อน จากนั้นก็จะลามไปที่ขา ปลายเท้า หรือขึ้นไปที่หัวไหล่ ปลายแขน และมือ
ซึ่งอาการเหล่านี้มีความรุนแรงมากกว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทอยู่มาก อาการปวดที่เกิดขึ้นสามารถรุนแรงจนกระทบต่อการนอนหลับ การเปลี่ยนอิริยาบถ
หรือการก้าวเดินในช่วงก้าวแรกๆ อาการปวดจะร้าวลงไปที่สะโพก และจะดีขึ้นเมื่อเดินไปได้สักระยะหนึ่ง
อาการของโรคนี้เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ Piriformis ซึ่งอยู่ตรงแก้มก้น มีหน้าที่คือช่วยให้ขากางหรือหมุนออกได้ เป็นกล้ามเนื้อส่วนที่อยู่ลึกสุด
เพราะเหตุนี้เมื่อมันเกิดการดึงตัวจนสุดในการใช้งาน มันจึงมีโอกาสเข้าไปกดทับกับเส้นประสาทที่ชื่อว่า Sciatic
โดยเส้นประสาทตัวนี้จะถูกส่งออกจากกระดูกสันหลังส่วนเอว พาดผ่านไปยังกล้ามเนื้อ Piriformis ที่อยู่บริเวณก้น
แล้วเข้าไปสู่ต้นขาด้านหลัง ข้อพับขา และน่อง จะเห็นได้ว่าเส้นประสาทลอดผ่านอยู่กับกล้ามเนื้อในหลายๆ จุด
โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นจุดเชื่อมต่อของข้อพับ จึงทำให้มันมีโอกาสสูงมากที่เส้นประสาทบริเวณก้นจะถูกกล้ามเนื้อกดทับ
และเนื่องจากเป็นเส้นประสาทแขนงใหญ่ ช่วยทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทความรู้สึกไปยังกล้าเนื้อขาทุกส่วน การที่กล้ามเนื้อเข้าไปบีบกดทับเอาไว้ จึงทำให้เกิดอาการชาตามมา
การตรวจอาการของโรคนี้ มักจะไม่สามารถพบได้ด้วยการ x-ray ที่บริเวณก้นและหลัง กล่าวคือไม่พบความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น
เนื่องจากเป็นผลที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อโดยตรง การตรวจจึงต้องทำที่กล้ามเนื้อจึงจะวินิจฉัยโรคได้นั่นเองค่ะ
สาเหตุอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
1.สาเหตุที่พบได้มากสุด คือกลุ่มสาวๆ ที่ใช้เวลาไปกับการนั่งทำงานเป็นเวลานาน
โดยเฉพาะการนั่งเก้าอี้แข็งๆ ติดต่อกัน จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้ได้สูง
2.ขนาดของกล้ามเนื้อ piriformis ที่มีขนาดนสั้น ส่งผลให้เกิดการตึงตัวมากเกินไปเมื่อเคลื่อนไหว
มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบีบรัดเส้นประสาทได้เช่นกัน
3.การตั้งครรภ์, การอักเสบของกล้ามเนื้อ piriformis และสาเหตุผิดปกติอื่นๆ
ลักษณะอาการปวดสะโพกจากโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
1.ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวตามขาแบบเรื้อรัง ปวดบริเวณสะโพกที่ต้องนั่งทับ
มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก ขึ้นอยู่กับระดับในการกดทับเส้นประสาท
2.ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเดินได้ เนื่องจากเกิดอาการปวดและชาอย่างรุนแรง
3.อาการปวดขาจะเกิดขึ้นจนทำให้รู้สึกนอนไม่หลับ หรือสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก
4.รู้สึกปวดเมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบถ โดยเฉพาะในช่วงเดินแรกๆ จะปวดร้าวลงไปที่สะโพกถึงต้นขา
เมื่อเดินต่อไปได้ระยะหนึ่งๆ จะพบว่าอาการปวดค่อยทุเลาลง และหายไป
5.บางรายมีอาการปวดกล้ามเนื้อที่ต้นคอเวลาขยับ เป็นอาการปวดเสียวอย่างรุนแรง เหมือนถูกไฟช็อตที่แขน
6.อาการปวดสะโพกร้าวลงต้นขา หลัง หรือบางรายอาจปวดจากลงไปที่สะโพก ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหนก็จะเกิดอาการปวดได้
การรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
1.แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยโรคก่อนในเบื้องต้น เพื่อกำจัดโรคที่ไม่ใช่สาเหตุออกไปก่อน
ด้วยการทำ MRI ตรวจหาความผิดปกติที่กระดูกสันหลังหรือไม่ เพราะโรคทั้งสองนี้สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้
หากวินิจฉัยผิดและเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง จะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ เนื่องจากต้นเหตุมาจากกล้ามเนื้อไม่ใช่กระดูกแต่อย่างใด
2.กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมาก จะใช้วิธีการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด
และช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึงให้หย่อน ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การใช้ความร้อนส่งตรงเข้าสู่กล้ามเนื้อชั้นลึก
การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อ การฝังเข็ม หรือการบริหารร่างกายในท่าที่เหมาะสมด้วยตัวเอง เป็นต้น
3.หากอาการปวดมีความรุนแรงมาก จนผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
แพทย์อาจจะต้องใช้ยาฉีดเพื่อบรรเทาอาการ ด้วยการฉีดเข้าที่รอบๆ เส้นประสาทและกล้ามเนื้อในส่วนที่มีการหดเกร็ง
4.การอัลตราซาวน์และใช้ไฟฟ้ากระตุ้น เป็นวิธีหาตำแหน่งความผิดปกติของเส้นประสาทที่ถูกบีบรัดที่มีความแม่นยำ แต่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้องในการรักษา
Photo Credit : triathlon.competitor.com
ในปัจจุบันอาการ ปวดสะโพกร้าวลงขา จากโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ยังไม่มีวิธีรักษาที่สามารถช่วยให้หายเป็นปกติในระยะเวลาสั้นๆ
การรักษาจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวค่อยๆ คลาย ลดการบีบรัดเส้นประสาท โดยที่การผ่าตัดจะไม่ช่วยให้โรคนี้สามารถหายได้
ดังนั้นในการรักษา จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการรักษาผิดโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายนั่นเองค่ะ