ภาวะซีด มักเป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่สิ่งสำคัญที่ควรจะรู้คือ เมื่อผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้น ภาวะซีดก็จะมีอาการที่หนักไปกว่าเดิม
ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยนิ่งนอนใจ เราควรทำความรู้จักกับ ภาวะซีดในผู้สูงอายุ ให้มากขึ้น เพื่อรับมือป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายที่อาจจะตามมาได้
ภาวะซีด คืออะไร?
ภาวะซีด (anemia) หรือ โรคโลหิตจาง คือ ภาวะที่ภายในร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดต่ำกว่าปกติ
จึงไม่สามารถทำให้การขนถ่ายออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อได้เพียงพอต่อความต้องการ
สำหรับการกำหนดว่าเป็นภาวะซีดนั้นในผู้ชายกับผู้หญิงจะมีระดับที่แตกต่างกัน ดังนี้
- เพศชาย น้อยกว่า 13 g/dl
- เพศหญิง น้อยกว่า 12 g/dl
สาเหตุของภาวะซีด
ภาวะซีดในผู้สูงอายุ สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แล้วล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นตัวส่งผล โดยสาเหตุสามารถอธิบายได้ ดังนี้
ภาวะซีดจากการขาดสารอาหาร
การขาดสารอาหารกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เพราะอายุที่มากขึ้นจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร
จนทำให้เกิดภาวะซีดตามมา โดยสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซีดได้นั้นก็คือ
- ธาตุเหล็ก
- วิตามินบี 12
- โฟเลต
แต่ข้อควรรู้ที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะขาดวิตามินบี 12 และโฟเลตมากกว่าธาตุเหล็ก เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจในสารอาหารทั้ง 2 ชนิดดังที่กล่าวมา
เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นเท่ากับธาตุเหล็ก แต่สำหรับสารอาหารทั้ง 2 ชนิดไม่ว่าจะเป็นวิตามินบี 12 หรือโฟเลตก็ตาม
ล้วนเป็นสารอาหารที่จะช่วยกระตุ้นร่างกายให้สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อผู้สูงอายุรู้ว่าเป็นภาวะซีด
จึงควรพยายามปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อเสริมธาตุเหล็ก แต่หากขาดสารอาหารทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว
ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้เท่าที่ต้องการ
โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะขาดสารอาหารจนส่งผลต่อการเกิดภาวะซีดตามมา คือ
ระบบทางเดินอาหาร : เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็เริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้ระบบภายในร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับสมัยวัยรุ่น
จึงทำให้ระบบย่อยอาหารไม่สามารถที่จะย่อยอาหารได้ดีดังเดิม และไม่สามารถดูดซึมสารอาหารที่อยู่ภายในอาหารเหล่านั้นได้
ระบบรับรู้รสชาติ : เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยที่อายุมากขึ้น ระบบรับรู้รสชาติสำหรับผู้สูงอายุก็จะเสื่อมสภาพไปตามอายุได้เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นเมื่ออายุมากขึ้นการรับรู้รสชาติของอาหารก็จะน้อยลงส่งผลทำให้รู้สึกทานอาหารไม่อร่อยและไม่ต้องการที่จะทานอาหารอีก
ระบบช่องปาก : ปัญหาทั่วไปสำหรับผู้สูงอายุหลายคน ก็คือปัญหาจากระบบช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากเหงือก ฟัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเคี้ยวและกลืน จึงทำให้ผู้สูงอายุทานอาหารได้น้อย
ผู้จัดเตรียมอาหาร : เป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้สำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากการจัดเตรียมอาหารให้กับผู้สูงอายุนั้น
บางคนอาจจะไม่ได้เรียนรู้ในเรื่องของโภชนาการ จึงทำให้ไม่ได้เลือกสรรอาหารให้เหมาะสมกับโภชนาการ
ตามที่ร่างกายของผู้สูงอายุต้องการ ส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงขาดวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย
ภาวะซีดจากความผิดปกติและอาการอักเสบ
สำหรับสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะที่บริเวณไขกระดูกซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
ซึ่งอาจจะมีผลกระทบมาจากการใช้ยา อย่างเช่น ยารักษามะเร็ง จึงทำให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้
นอกจากนี้แล้วเมื่อเกิดอาการอักเสบเรื้อรัง ร่างกายจะมีการผลิตไซโตไคน์ในขณะที่เกิดการอักเสบ
และไซโตไคน์ถือเป็นสารที่ทำให้ฮอร์โมนอิริโทรโพอิติน (erythropoietin) สลายตัวได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยในเรื่องของการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ดังนั้น ถ้าหากฮอร์โมนชนิดนี้สลายตัวไปเร็ว ก็จะทำให้เกิดภาวะซีดได้ง่าย
ภาวะซีดจากความเสื่อมตามอายุ
อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่ออายุมากขึ้น ระบบต่างๆ ภายในร่างกายก็จะสามารถเสื่อมสภาพลงได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือ เซลล์ไขกระดูก
ที่อาจจะมีรูปแบบการทำงานที่เสื่อมสภาพลงจนทำให้ไม่สามารถที่จะผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ตามที่ร่างกายต้องการ
อาการของภาวะซีด
สำหรับภาวะซีดสามารถที่จะแสดงอาการให้เห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นภาวะนี้ อาการที่แสดงออกมีดังนี้
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย
- หน้ามืด
- เวียนหัว
- เบื่ออาหาร
อาการดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นอาการเบื้องต้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ และผลกระทบจากอาการเหล่านี้สามารถทำให้ผู้สูงอายุล้ม หรือตกลงมาจากบันไดได้
การวินิจฉัยภาวะซีด
ภาวะซีดในผู้สูงอายุแพทย์จะทำการวินิจฉัยภาวะอย่างละเอียด ซึ่งนอกเหนือไปจากการสอบถามประวัติของผู้สูงอายุแล้ว ก็จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เช่น
- การตรวจเลือด
- การตรวจระดับวิตามินบี 12 และโฟเลต
- การตรวจตับ
- การตรวจปัสสาวะ
วิธีรักษาภาวะซีดในผู้สูงอายุ
การรักษาภาวะซีดในผู้สูงอายุไม่สามารถระบุวิธีรักษาได้แบบตายตัว เนื่องจากผู้สูงอายุแต่ละรายอาจจะมีสาเหตุหรือรูปแบบที่ทำให้เกิดภาวะซีดที่แตกต่างกันไป
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรักษาไปตามสาเหตุที่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วพื้นฐานการรักษาภาวะซีด จะแบ่งวิธีรักษาหลักๆ ได้ 2 วิธีคือ
1.ปรับพฤติกรรมการทานอาหาร
เรื่องของการรับประทานอาหารถือเป็นเรื่องง่ายที่จะต้องใส่ใจคือ ผู้ป่วยพยายามทานอาหารที่มีสารอาหารตรงตามความต้องการของร่างกาย
โดยเน้นในส่วนของธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดโฟลิก ซึ่งก็จะหาได้จากอาหารโดยทั่วไป เช่น อาหารทะเล ผักใบเขียว ผลไม้รสเปรี้ยว
2.รักษาจากทางการแพทย์
เนื่องจากแพทย์อาจจะมีคำแนะนำด้านการรักษาแบบทางเลือกให้กับผู้ที่ป่วยเป็นภาวะซีดพร้อมกัน เช่น
- การฉีดฮอร์โมน erythropoietin เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงได้
- การทำคีเลชั่นบำบัด เพื่อกำจัดธาตุเหล็กที่เป็นส่วนเกินออกจากร่างกาย
วิธีป้องกันภาวะซีดในผู้สูงอายุ
สำหรับการป้องกันภาวะซีดในผู้สูงอายุ สามารถที่จะเริ่มต้นได้จากคนในบ้านช่วยกันดูแล
โดยเฉพาะในเรื่องของการรับประทานอาหารที่เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งผลทำให้เกิดภาวะซีด โดยมีวิธีดูแลดังนี้
1.ปรุงแต่งเมนูอาหารให้มีสารอาหารครบถ้วน ผู้ทำอาหารควรจัดแจงแต่ละมื้ออาหารให้มีสารอาหารที่หลากหลาย
โดยจะเน้นในส่วนของธาตุเหล็กรวมถึงโฟเลต และควรที่จะเปลี่ยนรูปแบบอาหารเพื่อให้น่าสนใจสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
2.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ถ้าหากผู้สูงอายุไม่สามารถที่จะทานอาหารได้ตามปกติ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการสะสมสารอาหารมากเกินไปในร่างกาย
3.เปลี่ยนบรรยากาศ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหาภาวะซีดจากการขาดสารอาหาร เพราะเบื่ออาหารหรืออาจจะเบื่อบรรยากาศ
ดังนั้นอาจจะลองแนะนำให้ผู้สูงอายุไปทานอาหารร่วมกับเพื่อนหรือเปลี่ยนสถานที่ในการรับประทานอาหาร
4.หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะซีดควรที่จะต้องตรวจสุขภาพทุกปี
Credit : mmforkids.org
จากข้อมูลที่เราชี้แจงไปดังกล่าว เพื่อเป็นการ ดูแลผู้สูงอายุ ภายในบ้านให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
การศึกษาเกี่ยวกับ ภาวะซีดในผู้สูงอายุ ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย
เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเกิดอุบัติเหตุและมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมาจากภาวะซีดอย่างเช่นการหน้ามืดและล้มง่าย
หากผู้ดูแลได้ศึกษาและทำการแก้ไขรับมือในปัญหานี้เป็นอย่างดีแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่คนที่คุณรักย่อมลดน้อยลงอย่างแน่นอน