ภาวะไขมันในช่องท้อง ภาวะที่ใครก็เป็นได้ แม้ไม่ได้อ้วน !

ภาวะไขมันในช่องท้อง Visceral Fat

ภาวะไขมันในช่องท้อง ใครที่ได้ยินคำนี้ต่างก็ต้องเข้าใจว่าเป็นภาวะที่จะเกิดกับผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักเกินกันทั้งนั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ดูผอมบางก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้ เคยเห็นกันหรือไม่ว่าคนผอมบางคน เมื่อใส่เสื้อเปิดหน้าท้องแล้ว

กลับเห็นพุงที่ยื่นออกมาเป็นก้อนกลม ๆ ไม่ได้ต่างกับคนอ้วนเลย เราจะมาทำความเข้าใจกับภาวะไขมันในช่องท้องให้มากขึ้นกันว่า

ภาวะไขมันในช่องท้องคืออะไร มีวิธีรักษาป้องกันได้อย่างไรบ้าง? เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงและลดการเกิดภาวะนี้ ซึ่งจะส่งผลดีให้กับสุขภาพของเรามากยิ่งขึ้นต่อไป

ภาวะไขมันในช่องท้อง คืออะไร?

ภาวะไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) เป็นภาวะที่ภายในช่องท้องซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ เกิดการสะสมของไขมัน

ที่ได้จากการรับประทานอาหาร และร่างกายไม่สามารถเผาผลาญออกไปได้หมด ผลก็คือ ไขมันเหล่านี้จะไปเกาะตามเนื้อเยื่อ

หลอดเลือด อวัยวะทุกส่วนในช่องท้อง ยิ่งเกาะเยอะมากเท่าไรหน้าท้องก็จะยิ่งบวมหรือป่องออกมามากเท่านั้น

หากได้มีการอัลตร้าซาวด์ดูสักครั้ง ก็จะเห็นว่าอวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้องจะถูกหุ้มไว้ด้วยไขมันที่มีสีเหลืองนั่นเอง

สำหรับใครที่อยากมีซิคแพ็คหรือกล้ามหน้าท้อง ก็จะต้องเผาผลาญไขมันชั้นใต้ผิวหนังที่มีขนาดบาง ๆ ก่อน

ถัดมาก็จะเป็นชั้นกล้ามเนื้อท้อง ที่จะต้องทั้งเผาผลาญออก และเล่นเวทเพื่อให้กล้ามเนื้อมีการพัฒนาจนเห็นเป็นลอนกล้ามเนื้อชัดยิ่งขึ้น

และถ้าหากต้องการให้หน้าท้องราบเรียบเพื่อเรียกความคมชัดของซิคแพ็คมากกว่าเดิม ก็จะต้องเผาผลาญไขมันในช่องท้องที่อยู่ด้านในสุด

แม้ว่าจะทำได้ยาก แต่ถ้ามีความพยายาม และตั้งใจจริงด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารเป็นประจำ ก็จะเห็นผลได้ในเวลาไม่นาน

ภาวะไขมันในช่องท้อง ก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างไร?

หากปล่อยให้เกิดภาวะไขมันในช่องท้องในปริมาณที่มากเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายดังต่อไปนี้

ภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง เมื่อไขมันเข้าไปอยู่ในหลอดเลือด แล้วมีการตกตะกอน ก็จะเริ่มมีการสะสมตัว

จนมีลักษณะแข็งเหมือนหิน สุดท้ายแล้วก้อนไขมันนี้จะอุดตันการไหลเวียนของหลอดเลือด

เป็นเหตุให้อวัยวะส่วนนั้น ๆ เกิดการขาดเลือด ยิ่งถ้าหากเกิดที่หัวใจและสมอง ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้ในทันที

เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ยิ่งมีไขมันในช่องท้องมากเท่าไร ร่างกายก็จะไม่ค่อยตอบสนองต่ออินซูลินมากเท่านั้น

ซึ่งก็หมายถึงระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานตามมา

อาการของผู้ที่มีภาวะไขมันในช่องท้อง

โดยทั่วไปแล้ว อาการของผู้ที่มีภาวะไขมันในช่องท้อง ที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนคือการที่พุงหรือหน้าท้องจะยื่นออกมา

และห้อยจนทำให้บุคลิกภาพไม่ดี แต่ในส่วนของการเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ต่อไปนั้น มีดังต่อไปนี้

โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า หากมีไขมันในช่องท้องมากเกินไป ก็มีโอกาสที่ร่างกาย จะไม่ตอบสนองต่ออินซูลินที่หลั่งออกมา

เป็นผลให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จนกลายเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง

โรคไขมันในเลือดสูง

ยิ่งมีไขมันในช่องท้องมาก ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ให้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

โรคหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด

เกิดจากการที่ไขมันไปเกาะอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ของหัวใจ เช่น หลอดเลือด ผนังหลอดเลือดหัวใจ เป็นเหตุให้หัวใจไม่สามารถทำงานตามปกติได้

หลอดเลือดสมอง

คล้าย ๆ กับปัญหาโรคหัวใจ คือเมื่อไขมันมีการตกตะกอนจนเกิดการอุดตัน เลือดก็จะไปเลี้ยงสมองไม่ได้ เป็นเหตุให้เซลล์สมองได้รับความเสียหาย ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อร่างกายต่อไป

ไขมันพอกตับ

เมื่อไขมันไปห่อหุ้มตับไว้ ก็ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น น้ำตาลบางส่วนในร่างกายจึงไม่ได้รับการเผาผลาญ นำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานต่อไปในอนาคต

วิธีรักษาภาวะไขมันในช่องท้อง

โดยทั่วไปแล้ว ในทางการแพทย์ จะมีสัญญาณเตือนที่บอกว่าคุณกำลังมีภาวะไขมันในช่องท้องที่มากเกินไป คือ

  • ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 130/85 ขึ้นไป
  • มีไขมันไตรกลีเซอรีน สูงกว่า 150 mg./dl.
  • มีไขมัน HDL น้อยกว่า 40 mg./dl. ในผู้หญิง ส่วนผู้ชายมีน้อยกว่า 50 mg./dl.

ซึ่งปกติแล้วการสลายไขมันหรือการเผาผลาญไขมันสามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนัก

แต่ในกรณีที่มีไขมันในช่องท้องสะสมมากเกินไป แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาควบคุมไขมันให้ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการรักษาดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแพทย์จะให้ยารักษา แต่ก็ต้องดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย

และปรับพฤติกรรมการกินอาหารของตนเองเช่นกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและรวดเร็วกว่าเดิมนั่นเอง

วิธีป้องกันภาวะไขมันในช่องท้อง

1.หลีกเลี่ยงอาหาร ประเภทแป้ง น้ำตาล และอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ในปริมาณมาก

2.งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจาก สองสิ่งนี้เป็นเหตุให้มีการสะสมของไขมันในร่างกายมากขึ้นกว่าเดิม

รวมถึง ระบบเผาผลาญก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

3.ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที จะเป็นตัวช่วยเร่งการเผาผลาญให้ดียิ่งขึ้น

4.ห้ามเครียด เมื่อรู้สึกเครียดหรือหงุดหงิด ก็ให้ใจเย็น ๆ แล้วหากิจกรรมสนุก ๆ ทำ จะช่วยลดความตึงเครียดและลดฮอร์โมนคอร์ติซอล

ที่จะหลั่งออกมาแล้วทำให้คุณอ้วนกว่าเดิม ซึ่งหากทำได้ดังนี้ คุณจะพบว่าน้ำหนักลดลงแถมไขมันในช่องท้องก็น้อยลงไปอีกด้วย

5.ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ การดื่มน้ำเปล่าจะช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งกว่าเดิม รวมทั้งยังช่วยในการชะล้างไขมันบางส่วนที่อยู่ภายในร่างกาย

6.พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการพักผ่อน จะเป็นการที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเลปตินที่จะช่วยในการเผาผลาญพลังงานออกมา รวมทั้งยังมีฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมในเรื่องของความหิวอีกด้วย

Credit : health.mthai.com

ภาวะไขมันในช่องท้อง เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยอย่างไม่มีข้อยกเว้น จริงอยู่ว่าโรคนี้อาจจะเกิดขึ้นในผู้ชายมากกว่า

แต่เราก็ควรจะระวังไม่ให้เกิดภาวะนี้ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตรายตามมานั่นเอง