สารต้านอนุมูลอิสระ มีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและผิวพรรณมากพอสมควร โดยปกติแล้ว ร่างกายของเราจะสามารถกำจัดสารอนุมูลอิสระได้ด้วยตนเอง
แต่เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพลงตามวัย ประสิทธิภาพในการกำจัดสารอนุมูลอิสระจึงลดลงไปด้วย แต่การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกาย
จากการทานอาหารจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้ ทำให้ห่างไกลจากโรคและบำรุงผิวพรรณในตัว
วันนี้เราเลยจะพาคุณไปทำความรู้จักกันค่ะว่า สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร มีสารชนิดใด ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ
สารต้านอนุมูลอิสระ คืออะไร?
สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) เป็นสารที่มีหน้าที่ช่วยชะลอการเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ
ซึ่งเป็นสาเหตุของความแก่ และสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง รวมถึงโรคอื่นๆ อีกมากมาย เนื่องจากเมื่อร่างกายคนเราถูกอนุมูลอิสระทำลาย
ความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกายก็เริ่มเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถต่อต้านอนุมูลอิสระที่เข้ามาทำลายได้
บางเซลล์จึงเกิดการแปรเปลี่ยนจนนำมาสู่เซลล์ผิดปกติอย่างเซลล์มะเร็ง และก่อให้เกิดโรคร้ายตลอดจนโรคต่างๆ ตามมาได้ในที่สุด
แม้กระทั่งผิวพรรณที่เคยเต่งตึงอ่อนเยาว์ ก็เริ่มได้รับการทำลายจนเหี่ยวย่น มีริ้วรอยและเสื่อมสภาพ ผิวมีฝ้า กระ และจุดด่างดำได้ง่าย
ซึ่งก็ล้วนเกิดจากอนุมูลอิสระทั้งสิ้น แต่สารต้านอนุมูลอิสระจะมีประสิทธิภาพต่อกรกับเจ้าอนุมูลอิสระไม่ให้บุกเข้ามาทำลายร่างกายได้นั่นเอง
สารต้านอนุมูลอิสระแต่ละชนิดและหน้าที่
1.แอสตาแซนธิน
แอสตาแซนธิน เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มตระกูลแคโรทีนอยด์ และถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในลำดับชั้นที่ดีที่สุด
เพราะแอสตาแซนธินจะไม่เกิดปฏิกิริยาภายในร่างกายที่ทำให้กลายเป็นสารอนุมูลอิสระ โดยที่สำคัญแอสตาแซนธิน
ยังเป็นสารที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ ดังนั้น จึงหารับประทานได้ง่าย โดยยังมีหน้าที่ในการช่วยดูแลร่างกาย ดังนี้
บำรุงสายตา : แอสตาแซนธินสามารถช่วยบำรุงสายตา สาเหตุจากระดับเซลล์ที่มีขนาดเล็กจึงสามารถเข้าสู่เซลล์ในตาได้ง่าย
และสามารถนำไปใช้งานได้ทันที ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาโรคจอประสาทตาเสื่อม และอาการมองเห็นไม่ชัด
กำจัดพิษ : นอกจากจะช่วยกำจัดสารอนุมูลอิสระแล้ว แอสตาแซนธินยังสามารถเป็นเกราะป้องกันให้กับเซลล์ทุกส่วนภายในร่างกาย จากการถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระและเชื้อโรครวมถึงแบคทีเรียต่างๆ
บำรุงสุขภาพผิว : แอสตาแซนธินเป็นสารที่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเซลล์ผิวหนัง จึงช่วยลดเลือนริ้วรอย ฝ้า กระ และยังช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวไม่ให้เกิดการเสื่อมโทรมได้อีกด้วย
แหล่งอาหารที่พบ : เนื้อปลาแซลมอน อาหารทะเล และสาหร่าย
2.วิตามินเอ
Vitamin A คือวิตามินที่สามารถละลายได้ในไขมัน ที่สำคัญยังสามารถช่วยกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ทำงานได้อย่างสมดุลมากยิ่งขึ้น โดยมีหน้าที่ในการช่วยดูแลร่างกาย ดังนี้
สร้างภูมิคุ้มกัน : วิตามินเอสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยจะเข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันภายในให้สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อโรคอื่นๆ
บำรุงผิว : เป็นการช่วยบำรุงผิวทำให้ผิวมีสุขภาพดีมากยิ่งขึ้น ช่วยให้ผิวหนังไม่หยาบกระด้าง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคผิวหนังต่างๆ
สร้างความสมดุล : วิตามินเอสามารถที่จะช่วยปรับระดับฮอร์โมนภายในร่างกายให้มีความสมดุล และยังช่วยลดการเกิดสิวลงได้อีกด้วย
แหล่งอาหารที่พบ : ตำลึง ผักกาดขาว มะเขือเทศ และแตงโม
3.โคเอนไซม์คิวเทน
โคเอนไซม์คิวเทน สารที่มีคุณสมบัติละลายได้ในไขมันคล้ายกับวิตามินเอ และเป็นสารที่มีความสำคัญต่ออวัยวะหลักของร่างกาย เช่น หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ โดยมีหน้าที่ช่วยดูแลร่างกาย ดังนี้
บำรุงสมอง : ระดับของโคเอนไซม์คิวเทนในสมองมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นและมีความเกี่ยวข้องกับสมอง โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์
ลดอาการอ่อนเพลีย : โคเอนไซม์คิวเทนสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง และลดอาการเหนื่อยง่าย
บำรุงระบบหัวใจ : ถือเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์อีกหนึ่งชนิด ที่สามารถจะช่วยป้องกันความเสื่อมในการทำลายระบบเซลล์ต่างๆ จึงทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจสามารถทำงานได้เป็นปกติ
แหล่งอาหารที่พบ : ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เครื่องในสัตว์และอาหารทะเล
4.ลูทีน
ลูทีน คือสารอาหารกลุ่มเดียวกันกับวิตามินเอ ซึ่งถือเป็นสารที่มีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทตาเป็นอย่างมาก
หรือจะเรียกว่า วิตามินเพื่อดวงตาก็ได้ โดยมีหน้าที่ในการช่วยดูแลร่างกาย ดังนี้
บำรุงสายตา : ลูทีนมีความสามารถในการป้องกันประสาทตาด้วยการกรองแสง UV แสงรังสีต่างๆ และยังสามารถช่วยให้มองเห็นในที่มืดเป็นไปได้ดีขึ้น
บำรุงผิว : ลูทีนสามารถช่วยบำรุงผิว เนื่องจากลูทีนเป็นสารที่สามารถกรองแสงสีฟ้าและรังสีต่างๆ ได้ จึงทำให้ผิวดูกระจ่างใสและมีสุขภาพดีมากขึ้น
แหล่งอาหารที่พบ : ข้าวโพด ส้ม บล็อกโคลี่ และคะน้า
5.ไลโคปีน
ไลโคปีน ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดีอีกหนึ่งชนิด ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายเป็นอย่างมาก และถือเป็นสารที่ร่างกายไม่สามารถที่จะสร้างได้ด้วยตนเอง
จึงจำเป็นต้องรับสารนี้เข้าไปด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีสารดังกล่าว โดยไลโคปีนนั้นก็มีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพร่างกายดังนี้
ควบคุมระดับน้ำตาล : ไลโคปีนสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลภายในเลือดได้ดี จึงลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน
และยังช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่จะเข้าไปอุดตันภายในหลอดเลือดได้อีกด้วย
บำรุงผิว : ไลโคปีนถือเป็นสารอาหารอีกหนึ่งชนิดที่สามารถช่วยบำรุงผิวได้ดี และชะลอการเกิดริ้วรอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส
ปรับระดับความสมดุลของฮอร์โมน : สามารถช่วยปรับระดับความสมดุลของฮอร์โมนภายในร่างกาย
ซึ่งลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการที่มีความเกี่ยวข้องทางจิต จากการส่งผลของระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุล
แหล่งอาหารที่พบ : มะเขือเทศ มะละกอ แตงโมและส้มโอ
6.ซีลีเนียม
ซีลีเนียม คือแร่ธาตุที่จะช่วยส่งเสริมวิตามินอีในการทำหน้าที่ต้านสารอนุมูลอิสระภายในร่างกาย แต่อาจจะไม่ได้ต้องการในปริมาณที่มากเกินไป โดยซีลีเนียมมีบทบาทในการดูแลสุขภาพร่างกายดังนี้
ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง : เนื่องจากซีลีเนียมจะช่วยต้านเซลล์มะเร็งให้สามารถแพร่กระจายได้ช้า และช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายจากการถูกทำลายของเซลล์มะเร็ง
บำรุงหัวใจ : ช่วยกระตุ้นในการทำงานของเซลล์เพื่อการส่งออกซิเจนไปให้หัวใจ จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจวาย
และยังเป็นการป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบได้อีกด้วย เนื่องจากจะสามารถช่วยในการสลายลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นภายในหลอดเลือดได้นั่นเอง
แหล่งอาหารที่พบ : ข้าวกล้อง กระเทียม มะเขือเทศ และอาหารทะเล
7.โครเมียม
โครเมียม มีความสำคัญต่อร่างกาย เพราะมีรูปแบบการทำงานพร้อมกันกับอินซูลิน เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลคงที่ ที่สำคัญสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
ร่างกายมีความจำเป็นที่จะต้องการสารชนิดนี้เป็นอย่างมาก โดยสารโครเมียมมีหน้าที่ในการช่วยสุขภาพดูแลร่างกาย ดังนี้
ป้องกันโรคเบาหวาน : โครเมียมสามารถที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานจากการควบคุมระดับน้ำตาลภายในร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายลงได้อีกด้วย
บำรุงกล้ามเนื้อ : เป็นสารอีกหนึ่งชนิดที่นอกจากจะช่วยเผาผลาญไขมันภายในร่างกายได้แล้ว
ยังสามารถที่จะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับกระดูกและข้อต่อ
แหล่งอาหารที่พบ : เนื้อไก่ ตับและน้ำมันข้าวโพด
8.วิตามินอี
วิตามินอี สามารถที่จะถูกละลายได้ในไขมัน และถูกจัดอยู่ในลำดับชั้นที่ดีที่สุดเช่นเดียวกันในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
โดยสามารถช่วยส่งเสริมวิตามินเอและแร่ธาตุอื่นๆ ในร่างกายในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิตามินเอก็มีบทบาทหน้าที่ในการช่วยดูแลสุขภาพร่างกาย ดังนี้
ชะลอความแก่ : วิตามินอีสามารถช่วยชะลอความแก่ โดยช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิวให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ลดการเกิดรอยเหี่ยวย่น และป้องกันรังสี UV
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด : มีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี และยังสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้อีกด้วย
แหล่งอาหารที่พบ : ผักใบเขียว เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลืองและไข่ เป็นต้น
Credit : robert-betz-online-seminare.de
สารต้านอนุมูลอิสระ เหล่านี้ล้วนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดีที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับอย่างเหมาะสม
โดยสามารถเลือกรับได้จากการทานอาหารชนิดต่างๆ จากแหล่งของสารอาหารที่ได้แนะนำไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีผิวพรรณอ่อนเยาว์สดใส ห่างไกลจากริ้วรอย ควรกินอาหารให้มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนพักผ่อนวันละ 7-8 ชั่วโมง
ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ล้วนช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีได้ และทำให้ผิวสวย ห่างไกลจากความแก่มากยิ่งขึ้นด้วย