ผู้สูงอายุ ถือเป็นช่วงวัยที่ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกาย
อวัยวะต่างๆ ที่เสื่อมสภาพ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ผิวพรรณ ใบหน้า กล้ามเนื้อ และสายตาก็เริ่มมีสภาพที่เสื่อมโทรมลง
นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางกายแล้ว ในด้านของจิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประสบการณ์การใช้ชีวิตในช่วงวัยที่ผ่านมา ทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน”
จึงทำให้เกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นผู้สูงอายุที่แก่ชราอย่างมีคุณค่า แต่ในขณะเดียวกัน
บางความสูญเสียก็อาจกลายเป็นความทรงจำแย่ๆ ที่ตกผลึกมาตอกย้ำซ้ำเติมและทำร้ายจิตใจผู้สูงอายุในยามที่อยู่ลำพังได้
ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในวัยผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง?
ช่วงวัยที่ผ่านมา ผู้สูงอายุบางท่านอาจประสบกับการสูญเสียหลายอย่างในชีวิตไปเป็นอย่างมาก
เช่น การเกษียณอายุจากการทำงาน สูญเสียเพื่อนหรือคู่ครองจากการเสียชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุจะต้องปรับตัวอย่างมาก
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยแก่ชรา เพราะหากไม่สามารถปรับตัวได้ ก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา
ซึ่งปัญหาที่มักพบได้บ่อยๆ ได้แก่ อาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ และภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อการช่วยลดสาเหตุของการเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต
ตลอดจนวิธีดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ เราสามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
วิธีดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
1.ควรให้ความเคารพนับถือ
สิ่งนี้ นับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ลูกหลานและคนใกล้ตัวควรให้การปฏิบัติเพื่อเป็นการใส่ใจดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
เพราะการเคารพ นับถือและยกย่องท่านอยู่เสมอจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าต่อทุกคนในครอบครัว รวมถึงบุคคลอื่นๆ ด้วย
2.พบปะคนในครอบครัว
สมาชิกในครอบครัวควรหาเวลาว่างๆ เพื่อเข้าพบปะเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุบ้าง โดยอาจจะหากิจกรรมทำร่วมกัน
เช่น การรับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากัน ทำบุญ และปลูกต้นไม้ เป็นต้น
3.พูดคุยโทรศัพท์กับเพื่อน
ปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียดบางทีก็ไม่อาจสามารถข้ามผ่านไปได้ทุกครั้ง ต่อให้มีหัวใจที่แข็งแกร่งแน่นหนักเพียงใดก็ตาม
ต่างก็ล้วนต้องการที่พึ่งพิงทางใจอยู่เสมอ ดังนั้นการโทรศัพท์ไปพูดคุยปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากเพื่อนที่รู้ใจสักคนก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้น
เพราะการที่ผู้สูงอายุมีคนคอยรับฟังและคอยให้คำปรึกษาอยู่เสมอนั้น มักทำให้ภาวะจิตที่ไม่สมดุลกลับมาเข้าที่เข้าทางได้อย่างมากขึ้น
อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ เพราะไม่ได้แบกปัญหาอยู่บนโลกนี้แต่เพียงลำพัง
4.เลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนแก้เหงา
หาสัตว์เลี้ยงน่ารักน่าเอ็นดูสักตัวมาไว้เป็นเพื่อนเล่นแก้เหงาก็ดีไม่น้อย เพราะการที่ได้มีเวลาเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด
ได้พูดคุยเล่น หยอกล้อกับมัน จะทำให้จิตใจที่ฟุ้งซ่านสงบเย็นลงได้ อีกทั้งยังทำให้ลืมความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ ลงไปได้อีกด้วย
ทำให้รู้สึกการมองโลกในแง่ดีมากขึ้น รู้จักคุณค่าของการให้ และยังช่วยลดความดันโลหิตลงได้
5.คุยกับเพื่อนที่มีอารมณ์ขันอยู่บ่อยๆ
สุขภาพจิตใจที่หดหู่ย่ำแย่ ยิ่งต้องหาคนที่คุยด้วยแล้วสบายใจ ยิ่งสร้างอารมณ์ขันให้ได้หัวเราะอยู่ตลอดเวลายิ่งดีอย่างมากทีเดียว
ดังนั้นจงพยายามหาเพื่อนที่มีอารมณ์ขันไว้คอยคุยด้วยบ่อยๆ เพราะจะช่วยกระตุ้นจิตใจให้รู้สึกสดใส ไม่เครียด
เพราะคนที่หัวเราะง่ายมักจะมีพื้นฐานสุขภาพจิตใจที่ดี การหัวเราะยังช่วยลดระดับความดันโลหิต และระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลลงได้
และยังช่วยผลิตระดับ “อิมโมโนโกลบูลินเอ” ซึ่งถือเป็นสารแอนติบอดี้ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงได้อีกด้วย
6.ให้ธรรมะเป็นที่พึ่งทางใจ
การทำบุญ สวดมนต์ นั่งสมาธิอยู่เสมอ นับเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีที่สุดของผู้สูงอายุ ธรรมะจะช่วยหล่อเลี้ยงและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
ทำให้จิตใจไม่อ่อนแอหรือจิตตกง่าย และยังช่วยบรรเทาความทุกข์ ช่วยสร้างความหวังและทำให้ผู้สูงอายุรู้จักการปล่อยวาง
ส่งผลให้มีความสุขกับการใช้ชีวิตในบั้นปลายได้มากยิ่งขึ้น และยังทำให้การใช้ชีวิตยามบั้นปลายเป็นไปอย่างไม่ประมาทอีกต่อไปด้วย
7.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความสุขและสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้ทุกช่วงวัยได้อย่างแท้จริง
ไม่เว้นแม้แต่ผู้สูงอายุ สำหรับการออกกำลังกายในผู้สูงอายุนั้นก็อาจจะเลือกทำแบบเบาๆ เช่น การเดินหรือเต้นรำ
เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยรักษาสุขภาพทางกายได้ดีแล้ว ยังกระตุ้นสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ให้หลังออกมา
ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขมากขึ้น สารดังกล่าวจะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลลงได้นั่นเอง
8.พักผ่อนอย่างเหมาะสม
ควรพักผ่อนให้เต็มที่ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การพักผ่อนร่างกายจะแข็งแรง แก้ปัญหาความเหนื่อยล้าง่าย
ชะลอความเสื่อมสภาพของร่างกายได้มากขึ้น ส่วนในด้านจิตใจก็จะช่วยลดความเครียด
สร้างความผ่อนคลาย ทำให้สบายใจขึ้นและช่วยลดความวิตกกังวลต่างๆ ลงได้
9.ดูแลใส่ใจเรื่องอาหาร
สุขภาพผู้สูงอายุ ยิ่งนานวัน ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว
ยิ่งควรใส่ใจกินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นโรคที่เป็นอยู่ให้ยิ่งเกิดภาวะร้ายแรงหนักขึ้น
ควรใส่ใจดูแลโภชนาการอาหารของผู้สูงอายุเป็นอย่างดี เพราะอาหารที่ดีจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย
ชะลอความเสื่อมสภาพของอวัยวะ และยังถือเป็นการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุได้มากขึ้นด้วย
เนื่องจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่นใจ เห็นว่าตนเองมีคุณค่าที่ยังคงได้รับการดูแลใส่ใจจากคนในครอบครัวเป็นอย่างดีอยู่เสมอ
10.หางานอดิเรกทำ
อย่าอยู่ว่างๆ ปล่อยเวลาให้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรหางานอดิเรกที่ชื่นชอบทำยามว่าง
เช่น ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์หรือเล่นดนตรี เพียงแค่นี้ก็จะช่วยให้สุขภาพจิตใจเพลิดเพลินขึ้น
Credit : huffingtonpost.com
การดูแล สุขภาพจิตผู้สูงอายุ นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องให้การดูแลใส่ใจไม่แพ้เรื่องของสุขภาพร่างกาย
เพราะเมื่อแก่ชราลงแล้ว ไม่เพียงแค่ร่างกายเท่านั้นที่เสื่อมสภาพแล้ว แต่ในด้านจิตใจ การสูญเสียบางอย่างในช่วงวัยที่ผ่านมา
บวกกับการอยู่ตามลำพังในบั้นปลายบ่อยๆ อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ วิตกกังวลและเป็นซึมเศร้าได้
ดังนั้น สมาชิกทุกคนในครอบครัว จึงควรใส่ใจดูแลท่านเป็นอย่างดี ทั้งทางกายและสุขภาพจิต ก็จะช่วยประคองชีวิตท่านให้อยู่กับเราไปนานๆ ได้แล้ว