ปัจจุบันคงไม่มีกระแสข่าวใดจะดังไปกว่า “คนเป็นมะเร็งจะไม่ตายแล้ว” เพราะจากรายงานการวิจัยพบว่า อาหารบางอย่างที่เรารับประทานเข้าไป มีคุณสมบัติขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในระยะต่างๆ ได้
โดยสารต้านมะเร็งนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของวิตามินและเกลือแร่ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเป็นสารอาหารที่พบมากในผักและผลไม้เป็นสำคัญ
สอดคล้องกับผลการวิจัยจากหลายประเทศ ที่ยืนยันและสรุปตรงกันมากกว่า 170 เรื่องว่า สารอาหารในผักและผลไม้ที่รับประทานในปริมาณมากเป็นประจำในแต่ละวัน สามารถป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งได้ถึงร้อยละ 50
ผัก ผลไม้ ที่เป็นอาหารต้านมะเร็งได้ มีอะไรบ้าง
จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า “ผักที่มีกลิ่นแรง” อย่าง กระเทียม ต้นกระเทียม หัวหอม และต้นหอม จะมีสารสำคัญหลายชนิดที่มีคุณสมบัติป้องกันโรคมะเร็งได้
ซึ่งผลการวิจัยนี้ ได้จากการทดลองให้ “หนู” ได้รับสารอาหารที่มีอยู่จากกระเทียม แล้วอภิปรายได้ว่า คนที่กินกระเทียมหรือหัวหอมมากๆ จะลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้
อีกทั้ง สารประกอบกำมะถันที่อยู่ในกระเทียมยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสารต้านเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งด้วย
นอกจากนี้ ผู้ที่รับประทาน “ผักกลิ่นฉุนตระกูลคะน้า” ซึ่งได้แก่ ผักคะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี และหัวไชเท้า เป็นประจำ
ยังช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะในผู้ชาย การรับประทานผักเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ
ยังจะช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็งได้น้อยกว่าพวกที่ไม่กินผักประเภทนี้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว
นอกจากผักทั้ง 2 ประเภทนี้แล้ว ใน “ถั่วเหลือง” ยังมีสารสำคัญที่ช่วยหยุดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งผิวหนัง และอื่นๆ ได้ โดยจะไปขัดขวางทำให้มะเร็งเติบโตและแบ่งเซลล์ช้าลง
และใน “ข้าวกล้องหรือข้าวสาลี” ก็มีสารอาหารสำคัญซึ่งพบมากบริเวณรำข้าว ที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อ และป้องกันโรคมะเร็งได้
ใน “ผักผลไม้ที่มีสีแดง” อย่างแตงโม และมะเขือเทศ ก็มีสารไลโคปีน ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
ส่วน “ผลไม้ประเภทส้มและนมพร่องมันเนย” ก็มีสารต้านเซลล์มะเร็งอยู่หลายชนิดเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การบริโภคผักและผลไม้เพื่อให้ได้รับสารต้านมะเร็ง ในปริมาณที่เพียงพอต่อการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งนั้น
ควรได้รับอย่างน้อยวันละ 2.5 ถ้วยตวง ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย แคลอรี่ต่ำ แต่มีเส้นใยอาหารสูง
รวมไปถึง กรรมวิธีการประกอบอาหารก็ต้องสะอาด ดูน่ารับประทาน และสงวนคุณค่าทางโภชนาการไว้ให้ได้มากที่สุด