โรคกระดูกต้นคอเสื่อมกับพฤติกรรมเสี่ยง แค่รู้เท่าทันก็ป้องกันรักษาได้ !!

โรคกระดูกต้นคอเสื่อม

โรคกระดูกต้นคอเสื่อม เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง

โดยเฉพาะการเล่นสมาร์ทโฟนมากเกินไป คุณรู้หรือไม่ว่านี่ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นโรคกระดูกต้นคอเสื่อมได้

วันนี้เราจึงพามาทำความรู้จักกับโรคนี้ โรคกระดูกต้นคอเสื่อมคืออะไร อาการ และวิธีรักษาป้องกันเป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลย

ระวัง! เล่นสมาร์ทโฟนมากเกินไป เสี่ยงเป็นโรคกระดูกต้นคอเสื่อม

สมาร์ทโฟนไม่ได้มีดีแค่เล่นโซเชียลเท่านั้น แต่ยังมีแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่ให้ทั้งความบันเทิง และประโยชน์หลายอย่าง

จึงทำให้คนเราหันมาใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ใช้จะติดสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยจากรายงานที่ผ่านมาพบว่า คนไทยกว่า 98% ติดสมาร์ทโฟนจนถึงขั้นขาดไม่ได้ ซึ่งการใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบกับสายตา

เนื่องจากกล้ามเนื้อตาโดยปกติจะมีการปรับการมองเห็นใกล้ไกลอย่างอัตโนมัติ แต่หากเพ่งมองอะไรเป็นเวลานานๆ

จะทำให้ระบบกล้ามเนื้อตาดังกล่าวไม่ทำงานอัตโนมัติอีก ซึ่งโดยปกติแล้วระบบกล้ามเนื้อตาจะเสื่อมลงตามอายุ

แต่การใช้สมาร์ทโฟน หรือจ้องมองอะไร หรือใช้งานสายตามากๆ เป็นเวลานานติดต่อกัน จะส่งผลให้ระบบกล้ามเนื้อตาเสื่อมเร็วขึ้น

และมีโอกาสสายตาสั้นถาวร นอกจากนี้ การใช้สมาร์ทโฟนมากๆ หรือใช้งานอย่างไม่ถูกท่า

ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบประสาทและกระดูกต้นคอ ทำให้เป็นโรคกระดูกต้นคอเสื่อมตามมาได้อีกด้วย

โรคกระดูกต้นคอเสื่อม คืออะไร?

โรคกระดูกต้นคอเสื่อม (Cervical spondylosis) เป็นกระดูกสันหลังส่วนคอที่ประกอบไปด้วยกระดูกอ่อนคั่นอยู่

โดยหมอนรองกระดูกเป็นกระดูกอ่อนชนิดพิเศษ จะมีความยืดหยุ่นสามารถทำให้คอมีความยืดหดหรือเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ กัน

เช่น ก้มหรือเงยศีรษะ หันหน้าไปทางซ้ายหรือขวา หรือเอียงคอไปมา และกระดูกคอยังทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักศีรษะไว้ตลอดเวลา

ซึ่งน้ำหนักของศีรษะและคอรวมกันประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ภายในกระดูกคอจะมีประสาทไขสันหลังอยู่

เป็นเส้นประสาทที่ไปทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขนกับขา

แต่เมื่อเราก้มหน้าเป็นระยะเวลานาน จะทำให้กระดูกต้นคอต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติถึง 6 เท่า หรือประมาณ 27 กิโลกรัม

แต่โดยปกติกระดูกต้นคอจะรับน้ำหนักของศีรษะอยู่ที่ประมาณ 5 กิโลกรัม

ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกต้นคอเสื่อมก่อนวัย หรืออาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาท

ในปัจจุบันพบว่าแนวโน้มของผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมมีอายุต่ำลงเรื่อยๆ จากแต่ก่อนพบผู้ป่วยอายุต่ำสุดที่อายุ 30 ปลายๆ

แต่ตอนนี้อายุ 20 ต้นๆ ก็เริ่มป่วยเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical spondylosis) จากการใช้สมาร์ทโฟนในท่าทางที่ไม่ถูกต้องและใช้เป็นระยะเวลานาน

อาการของโรคกระดูกต้นคอเสื่อม

เมื่อกระดูกคอเสื่อม หินปูนที่เกาะกระดูกกับเอ็นจะไปกดเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย

หรือลงมาบริเวณสะบัก และเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรงจะมีอาการปวดมากขึ้น แต่หากยังไม่มีอาการปวดร้าวมาที่แขน

แสดงว่ายังไม่มีการกดเส้นประสาท แต่จะปวดกระดูกกับข้อต่างๆ ในกระดูกสันหลังที่มีการเสื่อมสภาพไป

หากมีการกดทับเส้นประสาทใด จะมีอาการปวดร้าวไปตามบริเวณที่เส้นประสาทนั้นวิ่งไปเลี้ยง ซึ่งอาการนี้มักจะเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง

โดยการเกิดกระดูกต้นคอเสื่อม หากไปกดทับเส้นประสาทสมองระดับที่ 1-4 (Cervicogenic nerve root level 1-4)

อาจเกิดอาการปวดศีรษะที่บริเวณท้ายทอย, ด้านข้างศีรษะ, ขมับ, กระบอกตา, หน้าผาก หรือกลางกระหม่อม

ซึ่งทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของกระดูกคอ (Cervicogenic headache)

เป็นอาการปวดที่รุนแรงกว่าการปวดกล้ามเนื้อเกร็ง ผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะมากจนกระทั่งทนไม่ไหว

หรือมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากขนาดนวดก็ไม่หาย หรือเมื่อลองจับดูจะพบกล้ามเนื้อแข็งเป็นก้อน เวลานวดจะรู้สึกเจ็บมาก จะต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

วิธีรักษาโรคกระดูกต้นคอเสื่อม

ในการรักษาโรคกระดูกต้นคอเสื่อม จะแบ่งออกเป็นหลายระดับ ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการไม่มาก จะทำการรักษาด้วยการใช้ยา

และทำกายภาพบำบัด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยส่วนมากจะเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง จะต้องทำการรักษาด้วยการปรับท่าทาง

เพื่อทำให้กล้ามเนื้อที่บริเวณกระดูกคอมีความแข็งแรง ซึ่งจะใช้เวลาในการรักษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์

อาการถึงจะเริ่มดีขึ้น และยังต้องทำกายภาพบำบัดต่อไปเรื่อยๆ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมากจนถึงมีการไปกดทับเส้นประสาท

จะต้องทำการรักษาด้วยการใช้คลื่นความถี่เสียงแทงเข็มเข้าไปในเส้นประสาทตรงจุดที่มีปัญหา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

และวิธีรักษาสุดท้ายกระดูกต้นคอเสื่อมก็คือ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเอากระดูกที่ทับเส้นประสาทออกไป

วิธีป้องกันโรคกระดูกต้นคอเสื่อม

การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคกระดูกต้นคอเสื่อม ควรใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างเหมาะสม และปรับท่าทางการใช้งานอย่างถูกต้อง

เป็นวิธีการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งส่งผลทำให้เป็นโรคกระดูกต้นคอเสื่อม โดยตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด

เมื่อยล้า ตึงที่บริเวณบ่า คอ ไหล่ ก็คือการก้มหน้า ดังนั้นเวลาใช้งานสมาร์ทโฟน จะต้องปรับเปลี่ยนท่าทางการใช้งาน

โดยใช้แขนชูสมาร์ทโฟนขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่ไม่ต้องก้มหน้า แต่ก็อาจจะมีอาการเมื่อยแขนเร็วขึ้น ซึ่งเป็นผลดีทำให้เราไม่ต้องใช้งานสมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นระยะนาน

การออกกำลังกายลดปัจจัยเสี่ยงโรคได้

ในแต่ละวันควรออกกำลังกายคอเพื่อให้เคลื่อนไหวคอได้ดี เช่น ก้มและเงยหน้า โดยค่อยๆ ก้มหน้าให้คางจรดกับอก

แล้วเงยหน้าอย่างช้าๆ, ตะแคงซ้ายขวา หน้าตรงค่อยๆ ตะแคงซ้ายจนหูจรดไหล่ซ้าย แล้วตะแคงขวาในลักษณะเดียวกัน

และหันหน้าซ้ายขวา หมุนศีรษะหันหน้าไปทางซ้ายช้าๆ โดยให้ปลายคางอยู่ในแนวเดียวกับไหล่แล้วหมุนกลับมาด้านขวา

ซึ่งในแต่ละท่าจะต้องทำท่า 5-10 ต่อเซต และควรทำให้ได้ 2-3 เซตในแต่ละวัน

Credit : ovolva.com

จะเห็นได้ว่า โรคกระดูกต้นคอเสื่อม ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงเราเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคต้นคอกระดูกเสื่อม

แต่หากสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการเสี่ยงจะเป็นโรคต้นคอกระดูกเสื่อม ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

และรับการรักษาอย่างเหมาะสม ก่อนที่อาการจะเป็นมากจนถึงขั้นกระดูกต้นคอเสื่อม ซึ่งจะต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดค่ะ