โรคผิวหนังเสื่อมสภาพ มักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในหลายๆ คน โดยเฉพาะคนในวัย 40 ปีขึ้นไป เพราะเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุดังกล่าว
ก็นับเป็นประตูเข้าสู่วัยทอง ฮอร์โมนในร่างกายที่เคยทำให้ความสวยสะพรั่งเบ่งบานก็เริ่มลดลง และทำให้ความสาวความสวยลดลงตาม
จนทำให้เกิดริ้วรอยได้ง่าย ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่เราจะมาทำความรู้จักกับโรคผิวหนังเสื่อมสภาพกันให้มากขึ้น
โรคนี้สำหรับคนวัย 40 คืออะไร เราไปทำความรู้จักและรับมือกันอย่างถูกต้องดีกว่า
โรคผิวหนังเสื่อมสภาพ คืออะไร?
โรคผิวหนังเสื่อมสภาพ (Skin Aging) คือ สภาพผิวที่มีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ โดยสภาพจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าอายุของผิวที่ควรจะเป็น โดยสามารถที่จะสังเกตเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน
สาเหตุของโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ
สำหรับสาเหตุของโรคผิวหนังเสื่อมสภาพนั้น สามารถที่จะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ซึ่งควรจะต้องทราบเกี่ยวกับสาเหตุ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจโรคผิวหนังที่เสื่อมสภาพได้มากยิ่งขึ้น โดยสาเหตุมีดังนี้
1.อายุ
เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นระบบการทำงานภายในร่างกายก็จะเสื่อมถอยลง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น
โดยเฉพาะผิวหนังซึ่งอาจจะมีเซลล์ที่เสื่อมสลายทำให้ผิวหนังไม่เต่งตึงเหมือนตอนวัยรุ่น ดังนั้นอายุจึงเป็นสาเหตุหลักของโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ
2.ระบบไหลเวียนโลหิต
อย่างที่ทราบโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ระบบการทำงานภายในร่างกายจากเสื่อมสภาพลงเป็นเรื่องปกติ
ระบบไหลเวียนโลหิตก็เป็นอีกหนึ่งระบบที่จะทำงานได้เสื่อมสภาพลง ทำให้การนำสารอาหารหรือออกซิเจนซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะใช้ในการฟื้นฟูดูแลผิว ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม
3.กรรมพันธุ์
ยีนของแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถที่จะแบ่งได้จากตามเชื้อชาติ เพราะแต่ละเชื้อชาติจะมีถิ่นที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน
ดังนั้น สภาพผิวก็จะต้องสอดคล้องกับที่อยู่อาศัยจึงทำให้มีความแตกต่างกันนั่นเอง
4.แสงแดด
อย่างที่ทราบกันว่าภายในแสงแดดจะมีรังสียูวี เป็นรังสีที่ส่งผลให้เกิดสารอนุมูลอิสระซึ่งจากทำลายเซลล์ผิว
เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้มีสภาพผิวที่แย่ ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควรได้ง่าย และมีสีผิวที่ไม่สม่ำเสมออีกด้วย
5.การดูแล
ผิวหนังเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่ควรจะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม หากผิวหนังไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม
ก็จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเซลล์ภายใต้ชั้นผิวหนังได้รวดเร็วกว่าผู้ที่หมั่นดูแล และบำรุงอย่างถูกต้อง
6.สภาพแวดล้อม
สำหรับผู้ที่อยู่ใจกลางเมืองใหญ่ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังเสื่อมสภาพได้มากกว่าผู้ที่อยู่ตามชนบท
เนื่องจากมลภาวะภายในเมืองใหญ่จะมีมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นควันรถ เศษฝุ่น สารเคมี หรือแม้แต่กระทั่งควันบุหรี่
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสารอนุมูลอิสระที่จะทำลายผิว และสามารถทำลายคอลลาเจนภายในผิวหนังให้เสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรได้
อาการของโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ
โรคผิวหนังเสื่อมสภาพมีอาการที่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยสามารถที่จะสังเกตอาการของโรคผิวหนังเสื่อมสภาพได้ ดังนี้
ผิวแห้ง : โรคผิวหนังเสื่อมสภาพจะทำให้เกิดอาการผิวแห้ง โดยเกิดได้บนผิวหน้า ขา แขนและข้อศอก
ผิวช้ำ : ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดผิวฟกช้ำได้ง่าย หากเป็นโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ ยิ่งเพียงแค่เกิดการกระแทกเบาๆ ก็จะทำให้เกิดรอยช้ำได้ง่ายทีเดียว
ริ้วรอย : ผิวจะเริ่มมีลักษณะที่เหี่ยว หย่อนยาน จะไม่เต่งตึงเหมือนกับสภาพผิววัยรุ่นโดยทั่วไป
และที่สำคัญจะมีริ้วรอยที่ไม่ใช่เกิดเพียงแค่บนใบหน้าเท่านั้น เพราะสามารถที่จะมีริ้วรอยเพิ่มขึ้นแทบทุกส่วนของร่างกายเลยทีเดียว
กระแก่ : กระแก่มีลักษณะคล้ายกับเกลื้อน โดยจะมีสีน้ำตาล แต่ขนาดจะใหญ่กว่ากระทั่วไป โดยสามารถที่จะขึ้นได้ทั้งบนใบหน้า หลัง แขน ขา และเท้า
ติ่งเนื้อ : ติ่งเนื้อมักจะเกิดขึ้นบนใบหน้า เปลือกตา คอ รักแร้ หน้าอก โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะสร้างความรำคราญมากกว่าความอันตราย
การวินิจฉัยโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ
การวินิจฉัยโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ แพทย์จะสังเกตจากผิวหนังที่มีความผิดปกติ พร้อมทั้งลักษณะอาการที่เกิดขึ้น และสีของผิวหนังที่เปลี่ยนแปลง
วิธีรักษาโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ
วิธีรักษาโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ สามารถที่จะรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
1.การผลัดเซลล์ผิว
โรคผิวหนังเสื่อมสภาพสามารถรักษาได้ด้วยการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งจะใช้สารเคมีเพื่อการผลัดเซลล์ชั้นผิวเก่า ทำให้ผิวดูเรียบเนียนและมีรอยย่นที่น้อยลง
แต่ในระหว่างการรักษาก็อาจจะรู้สึกแสบบริเวณผิวประมาณ 5-10 นาที หลังจากนั้นแนะนำให้ประคบเย็นเพื่อลดอาการแสบและบวม
2.การลอกผิว
การรักษาด้วยการลอกผิว จะมีความแตกต่างกับการผลัดเซลล์ผิวโดยสิ้นเชิง เพราะการลอกผิวจะลอกไปจนถึงชั้นผิวหนังแท้
แต่จะทำให้ผิวเรียบกว่าการผลัดเซลล์ผิวโดยทั่วไป และยังเป็นการกระตุ้นการเกิดของเซลล์ผิวใหม่จึงทำให้เซลล์ผิวมีสุขภาพดีมากยิ่งขึ้น
3.การทำ FRACTIONAL LASER RESURFACING
เป็นการรักษาที่สามารถทำได้บนใบหน้า ลำคอ หน้าอก และบริเวณแขนรวมถึงมือ แต่จะไม่ใช่การทำเลเซอร์ทั่วทั้งบริเวณ
หากแต่จะทำเพียงแค่บางส่วนที่เป็นหลุมเพื่อให้ตื้นขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นในการสร้างผิวหนัง โดยจะทำให้เรียบเนียนมากยิ่งขึ้น
4.การฉีดฟิลเลอร์
การฉีดฟิลเลอร์สามารถที่จะเติมในส่วนที่หย่อนคล้อยหรือมีริ้วรอยได้ดี โดยจะใช้กับบนใบหน้า แต่เป็นการรักษาที่สามารถรักษาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
และสำหรับบางรายก็อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ดังนั้นวิธีนี้จึงควรที่จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทำการรักษา
วิธีป้องกันโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ
โรคผิวหนังเสื่อมสภาพสามารถที่จะป้องกันได้ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้
ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้น ก็จะช่วยกระตุ้นระบบภายในร่างกาย ให้เข้ามาช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวได้นั่นเอง
ทาครีมกันแดด : การทาครีมกันแดดสามารถช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV ที่จะทำร้ายผิวได้ ควรจะต้องใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 30
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ผิวขาดน้ำ จึงมีผลทำให้ผิวหยาบกระด้างขึ้นได้
ทำความสะอาดผิว : เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายเซลล์ผิว การทำความสะอาดผิวเป็นเรื่องสำคัญ
แต่ควรที่จะทำความสะอาดแบบอ่อนโยนไม่ควรที่จะขัดผิวรุนแรงมากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองและเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ง่าย
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ : ควรที่จะเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเป็นที่ต้องการของร่างกาย
โดยเฉพาะโอเมก้า 3 ที่จะช่วยชะลอกระบวนการการเกิดริ้วรอยความแก่ และควรที่จะต้องบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระ
โดยหาได้จากผักและผลไม้ต่างๆ ทานอาหารที่มีไขมันดีเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดริ้วรอย นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการทานของหวานๆ
เพราะน้ำตาลจะทำให้คอลลาเจนเสื่อมสภาพจนทำให้เกิดริ้วรอยตามมารวดเร็วได้
จัดการความเครียด : ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญของร่างกายที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังเสื่อมสภาพ
ซึ่งจะทำให้ผิวหนังเป็นริ้วรอยได้ง่าย ดังนั้น จึงหมั่นพยายามทำใจให้สบาย ปล่อยวาง เพื่อรับมือกับความเครียดให้ได้
หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ฤทธิ์กรด : เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายเซลล์ผิวไปมากกว่าเดิม เพราะผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรดจะทำการกัดเซลล์ผิว ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคผิวหนังได้มากยิ่งขึ้น
Credit : faceandlook.pl
โรคผิวหนังเสื่อมสภาพ เป็นโรคที่จะต้องพึ่งพาการรักษาจากทางการแพทย์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ควรที่จะต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์
เพื่อช่วยในการรักษาได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สำหรับคนวัย 40 ปี ซึ่งนับว่าร่างกายก็กำลังเข้าสู่วัยทอง
ฮอร์โมนก็อาจจะเริ่มลดน้อยลง การหันมาดูแลใส่ใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ทำใจให้สบาย กินอาหารที่มีประโยชน์
ดื่มน้ำมากๆ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยรับมือกับภาวะนี้และอาการผิวหนังเสื่อมสภาพได้มากขึ้นแล้ว