โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง
ไม่แพ้ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แบบเฉียบพลันเลย ปัญหาของโรคนี้ส่วนหนึ่งมักจะเกิดจากการไม่รักษาสุขภาพ
บางคนสะสมความเครียดไว้เป็นเวลานาน บางคนก็เลือกทานอาหารแบบตามใจปาก โดยไม่สนใจว่าอาหารที่ทานเข้าไปให้ประโยชน์
หรือส่งผลเสียอย่างไรกับร่างกายบ้าง จนเป็นเหตุให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งเราจะขอนำเสนอในภาพรวมว่า โรคนี้คืออะไร และมีความอันตรายมากน้อยเพียงใด
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คืออะไร ?
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) เป็นโรคที่เกิดจากการที่หลอดเลือดแดงที่จะทำหน้าที่หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
เกิดการตีบ หรือตันขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากไขมันส่วนเกินของร่างกาย ที่ไปจับตัวอยู่ตามผนังหลอดเลือด จนทำให้เกิดการตกตะกอน
หรือเกาะตัวเป็นชั้นหนากว่าเดิม ซึ่งมีผลให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากตามปกติ และทำให้ออกซิเจน
ผ่านไปยังหัวใจได้น้อยลงกว่าเดิมด้วย ยิ่งหลอดเลือดหัวใจตีบมากเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดมากยิ่งขึ้น
ซึ่งมีผลให้เกิดการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง จนถึงขั้นหมดสติได้ นอกจากนี้แล้ว ถ้าหากคราบไขมันที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดต่าง ๆ
เกิดการแตกตัว และจับตัวกับเลือดจนกลายเป็นลิ่ม ไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดมากยิ่งขึ้น ก็อาจมีผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย
หรือเกิดภาวะหัวใจวาย ที่มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตกะทันหันได้ทันที
สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การแบ่งสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ และสาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สาเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- กรรมพันธุ์ – หากมีบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ปู่ ยา ตา ยาย เป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจมาก่อน ก็มีโอกาสจะเป็นโรคนี้สูงขึ้น
- อายุ – เป็นที่เข้าใจกันดีว่า เมื่อมนุษย์มีอายุมากขึ้น เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายก็จะมีการเสื่อมสภาพลง รวมทั้งหลอดเลือดด้วย จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้มากยิ่งขึ้น
- เพศ – จากการสำรวจพบว่า สามารถพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงเริ่มหมดประจำเดือน หรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้เท่า ๆ กับผู้ชาย
สาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้
สำหรับสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้นี้ ดังที่บอกไปแล้วในข้างต้นว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น ส่วนหนึ่ง (และเป็นส่วนใหญ่)
เกิดขึ้นจากการมีพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพที่ไม่ดี โดยเฉพาะปัญหาต่อไปนี้
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง – โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ถ้าหากรับประทานมาก ๆ โดยไม่ออกกำลังกาย ก็จะทำให้มีไขมันในร่างกายสูงมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้ และไขมันทรานส์นี้เอง ที่เข้าไปเกาะตัว หรือจับตัวอยู่ตามผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโรคนี้
- ปัญหาความเครียด – ยิ่งเครียดมาก ๆ หรือสะสมความเครียดเป็นเวลานาน ก็จะทำให้ร่างกายมีปัญหาในเรื่องของการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ จนทำให้เกิดความแปรปรวน ซึ่งมีผลต่อระบบเผาผลาญไขมันของร่างกาย จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้
- สูบบุหรี่ – รวมถึงผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองด้วย เนื่องจากนิโคตินจะเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดให้เกิดความเปราะบางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งคาร์บอนมอนออกไซด์ก็จะไปทำลายออกซิเจน จึงต้องทำให้หัวใจทำงานหนักมากกว่าเดิม และอาจเกิดโรคนี้ขึ้นได้แบบเฉียบพลัน
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง – หากเป็นโรคนี้เป็นเวลานาน ก็มีโอกาสที่ผนังหัวใจจะหนาตัวกว่าเดิม
- เป็นโรคเบาหวาน – โรคนี้มักจะเกิดจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งน้ำตาลจะเป็นตัวเข้าไปทำลาย และทำให้หลอดเลือดมีการเสื่อมสภาพเร็วกว่าเดิม
- การเลือกทานผักและผลไม้อย่างไม่หลากหลาย – รวมทั้งยังรับประทานน้อยเกินไปกว่าสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันด้วย ยิ่งปัจจุบันนี้ คนส่วนมากมักจะเลือกทานแต่ผลไม้ที่รสหวานฉ่ำ และไม่ค่อยทานผัก ซึ่งจะทำให้ระบบเผาผลาญไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้อีกต่อหนึ่งนั่นเอง
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะดูมีความรุนแรงมาก แต่ก็ยังมีอาการนำเบื้องต้น ที่เป็นสัญญาณเตือนให้เราไปพบแพทย์ได้ก่อน นั่นก็คือ
- การเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก – บางคนอาจถึงขั้นรู้สึกปวดแสบ เหมือนโดนบีบหรือถูกกระแทกอย่างรุนแรง หากมีอาการมาก ๆ ก็อาจปวดไปถึงบริเวณหลัง ไหล่ คอ ลิ้นปี่ร่วมด้วย แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้นั่งพักในที่ ๆ อากาศปลอดโปร่ง หรือเมื่อได้รับยาขยายหลอดเลือด
- รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ – สามารถวัดได้จากการออกแรงหนัก ๆ หรือการออกกำลังกาย ทั้งที่ปกติไม่เคยเป็นมาก่อน บางคนอาจรู้สึกหายใจไม่ออก ต้องนอนตะแคงเพียงอย่างเดียว
- หมดสติ – ถ้าหากมีอาการรุนแรงที่สุด อาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการหมดสติได้ และอาจถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น
วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ง่ายที่สุด ก็คือการหลีกเลี่ยง หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
ของการเกิดโรคนี้ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เช่น เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำและควบคุมน้ำหนัก
รวมทั้ง หากเป็น โรคเกี่ยวกับความดัน และเบาหวาน ก็ควรดูแลตัวเองตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ต่อไป
แต่ถ้าหากว่ายังมีอาการเป็นระยะ ๆ แพทย์อาจจะเลือกทำการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- รักษาด้วยยา – โดยทำการรักษาตามอาการ เช่น หากเป็นโรคความดัน แพทย์อาจจะให้ยาคุมความดัน หากเป็นโรคไขมันสูง แพทย์ก็จะให้ยาลดไขมัน แต่ถ้าเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น กรรมพันธุ์ หรืออายุ แพทย์อาจจะให้ยารักษาโรคโดยตรง เช่น ยาขยายหลอดเลือด ยาสลายลิ่มเลือด เป็นต้น
- รักษาด้วยการทำบอลลูน – เพื่อเป็นการขยายหลอดเลือดให้หัวใจได้รับการหล่อเลี้ยงและออกซิเจนมากยิ่งขึ้น
- รักษาด้วยการผ่าตัดทำบายพาส – เป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร แต่ก็รับประกันผลการรักษาถึง 95% โดยการรักษาวิธีนี้ จะทำการผ่าตัดเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ให้ไปใช้หลอดเลือดอื่นแทนจุดที่มีปัญหา
วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การป้องกันการเกิดโรคนี้ ก็ไม่ต่างจากแนวทางการรักษาด้วยตัวเอง คือพยายามเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เลิกสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีควันบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้ง หางานอดิเรกทำเพื่อช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้น เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ขึ้นได้แล้ว
แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์และอายุ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบา ๆ และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้โรคนี้ไม่แสดงอาการได้
Credit : www.thaiheartfound.org
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรคร้ายที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นโรคที่ยากต่อการรักษา เพราะฉะนั้นจึงควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี
โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีอายุที่มากขึ้น หรือมีพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเป็นเวลานาน และถ้าหากคนรอบข้างมีปัจจัยเสี่ยง
หรือแสดงอาการเบื้องต้นบ้างแล้ว ก็ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ เพื่อจะได้สามารถรักษาได้ทันท่วงทีเมื่อมีอาการรุนแรง