ไขข้อกังวล กับอาการเจ็บเต้านมในผู้หญิง อันตรายหรือไม่ ?

อาการคัดเต้า ประจําเดือน

สำหรับสาวๆ เคยรู้สึกกันบ้างหรือไม่ว่า บางครั้ง อาการคัดตึงบริเวณเต้านม ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ

ยังมีอาการเจ็บในลักษณะต่างๆ อีกมากมาย ที่มักจะทำให้สาวๆ รู้สึกว่า ตัวเองมีความผิดปกติใดเกิดขึ้นหรือไม่

โดยเฉพาะอาการเจ็บปวด ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะไม่ใช่ในช่วงที่กำลังมีรอบเดือน

อันเป็นช่วงที่ฮอร์โมนกำลังพุ่งพล่าน ก็ยิ่งกลายเป็นความกังวลใจ คิดไม่ตก สารพัดอาการปวดที่อาจทำให้คิดว่า

ตัวเองกำลังมีอาการของโรคมะเร็งเต้านม ก่อนที่จะสงสัยจนจิตตกมากไปกว่านี้ ลองมาหาคำตอบของอาการดังกล่าวไปพร้อมๆ กันดีกว่าค่ะ

อาการปวดเต้านมคืออะไร ?

อาการเจ็บเต้านม (Breast pain หรือ Breast tenderness หรือ Mastalgia หรือ Mastodynia)

เป็นอาการที่จัดว่าพบบ่อยในผู้หญิง มากถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว ซึ่งอาการนี้เชื่อว่า

ผู้หญิงส่วนมากจะต้องเคยประสบกันมาบ้างแล้วครั้งหนึ่งในชีวิต โดยอาการที่ขอกล่าวถึงต่อไปนี้

จะไม่ใช่อาการที่เกิดในช่วงให้นมลูก หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะนมคัด” ซึ่งถือว่าเป็นอาการปกติ

แต่จะกล่าวถึงอาการเจ็บปวดที่เกิดในช่วงใดช่วงหนึ่งที่หาสาเหตุไม่ได้ พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น

หรือวัยที่กำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโตของเต้านม มีการแบ่งประเภทออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน ดังนี้

1.กลุ่มอาการที่มีความเกี่ยวข้องกับประจำเดือน (Cyclical breast pain)

ถือว่าเป็นอาการปกติที่พบได้บ่อยที่สุดของกลุ่มอาการนี้ ผู้ป่วยที่รู้สึกเจ็บเต้านม จะเกิดขึ้นในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หรือวัยที่ยังมีประจำเดือนอยู่

ซึ่งอาการจะดำเนินตั้งแต่วันแรก หรือก่อนมีประจำเดือนไม่กี่วัน ไปจนถึงวันสุดท้ายที่ประจำเดือนหมด

อาการแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป มากบ้างน้อยบ้าง อีกทั้งยังเกิดอาการปวดได้ทั้งสองเต้านมพร้อมกัน

หรือเกิดเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ อาการจะปวดทั่วทั้งเต้านม บางรายปวดร้าวจนถึงบริเวณรักแร้

หรืออาจจะเจ็บเพียงจุดใดจุดหนึ่งของเต้านมก็ได้ สาเหตุของอาการที่มีความเกี่ยวข้องกับประจำเดือน

มาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโดยตรง ฮอร์โมนจะเริ่มปรับสมดุลในช่วงก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์

ก็สามารถพบอาการเหล่านี้ได้แล้ว ถือว่าไม่มีอันตรายใดๆ และจะหายไปเองเมื่อฮอร์โมนกลับมาสู่ภาวะปกติ

2.กลุ่มอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน (Non-cyclical breast pain) 

เป็นกลุ่มอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก และมักเกิดขึ้นกับเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง เกิดขึ้นเฉพาะจุดในเต้านม

หรือพบได้จากเต้านมทั้งสองข้าง โดยไม่มีสาเหตุมาจากประจำเดือน ซึ่งมีข้อบ่งชี้ว่าอาจจะมาจากโรคของเต้านม

หรือโรคที่เกิดจากผนังหน้าอกบริเวณใกล้เคียง เช่น ก้อนเนื้องอกธรรมดาที่อยู่ภายในเต้านม, ถุงน้ำในเต้านม,

โรคตับแข็ง, การทานยาฮอร์โมนบางชนิด, เต้านมได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก, เต้านมติดเชื้อ และงูสวัดบริเวณผนังหน้าอก เป็นต้น

สำหรับการตรวจรักษาจากแพทย์ บางครั้งก็ไม่สามารถตรวจพบต้นตอของอาการเจ็บเต้านมได้

อาการเจ็บมักเกิดขึ้นและหายไปได้เอง แต่ในบางรายที่มีอาการเจ็บอันเนื่องมาจากโรคของเต้านม

อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการไข้ เต้านมบวมแดง แสบร้อนที่เต้านม มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมา

ซึ่งสามารถพบได้จากหลายสาเหตุ หากพบอาการดังกล่าว ไม่ควรนิ่งนอนใจ และรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างเร่งด่วน

การวินิจฉัยและรักษา

การวินิจฉัยอาการเจ็บเต้านม ที่เกิดขึ้น ตามความเห็นของแพทย์ หากเป็นผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษามีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ส่วนมากมักจะยังไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม จึงมีการซักประวัติอาการ การเกิดอุบัติเหตุ

การเจ็บป่วย การใช้ยา การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร ที่ผ่านมาเอาไว้ ร่วมกับจดบันทึกลักษณะอาการเจ็บ

ที่เกิดขึ้นว่าอยู่ในบริเวณไหน มีการตรวจคลำเต้านม ตรวจร่างกาย และอื่นๆ ตามความเหมาะสมของแพทย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุและอาการที่เกิดขึ้นด้วย

แนวทางในการรักษาจะดูจากสาเหตุเป็นหลัก หากเกิดขึ้นจากความผิดปกติของประจำเดือน

แพทย์ก็จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงผลข้างเคียงที่มาจากประจำเดือน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความสบายใจ

การรักษาในกรณีอื่นๆ จะทำตามสาเหตุที่พบ อาจมีการให้ยาปรับฮอร์โมน การใช้ยาบางชนิดเพื่อลดการอักเสบของเต้านม

อาจมีการให้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้นไปพร้อมๆ กับการรักษา โดยทั่่วไป

สาเหตุของอาการเจ็บเต้านมจะไม่รุนแรง สามารถหายไปได้เอง แต่หากเป็นความผิดปกติที่มาจากโรค

เช่น มะเร็งเต้านมหรือเนื้องอก ผู้ป่วยก็จะต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

เมื่อสาวๆ เกิดอาการเจ็บบริเวณเต้านม ไม่ว่าจะเป็นจุดไหนก็ตาม ทางที่ดีควรหมั่นสังเกตตัวเอง

สังเกตอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ความผิดปกติอื่นๆ ว่าพบหรือไม่ ตรวจคลำเต้านมอย่างถูกวิธีเพื่อหาก้อนเนื้อด้านใน

เจ็บเต้านม เกิดจากอะไร

Photo Credit : ruixinxin.com

หลีกเลี่ยงการใส่ยกทรงที่รัดแน่นมากเกินไป ส่วนกรณีที่มีเต้านมบวมแดง แสบร้อน ร่วมด้วย

ควรรีบพบแพทย์ทันทีที่มีอาการภายใน 1-2 วัน เพราะอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ

ที่อาจจะลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียงได้หากไม่รีบทำการรักษา และหากอาการยังไม่ทุเลาลงภายใน 7 วัน

หรือเกิดความกังวลใจมาก ก็ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อความปลอดภัยสูงสุดจะดีกว่าค่ะ