ความเครียด เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ
ทำให้เราเกิดความทุกข์ พบได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยส่วนมากเมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย
ความเครียดก็จะหายไป และทำให้เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิม
แต่ยังมีอีกหนึ่งความเครียดที่มักสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วย สาวๆ ที่เผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง
เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเครียดชนิด PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) แบบไม่รู้ตัว
และเนื่องจากโรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลี่ยงการเข้าพบแพทย์
เพราะยังมีความเชื่อผิดๆ ที่ว่า คนที่เข้าพบจิตแพทย์คือคนที่เป็นบ้าหรือไม่สมประกอบเท่านั้น
จนกลายเป็นภัยเงียบที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง
อีกทั้งยังเป็นโรคที่จำเป็นต้องมีคนรอบข้างเข้าใจ จึงจะช่วยให้การรักษาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอีกด้วย
ทำความรู้จักกับโรค PTSD ให้มากขึ้น
เนื่องจาก โรค PTSD จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เป็นความผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากความเครียด หลังจากได้ประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง
แตกต่างกับความเครียดที่เกิดขึ้นทันที ในช่วงเวลาที่เจอกับสถานการณ์นั้นๆ (Acute stress reaction) ซึ่งถือว่าเป็นความเครียดแบบทั่วไป
สามารถหายไปได้เองโดยใช้เวลาไม่นาน แต่สำหรับความเครียดแบบ PTSD จะคงอยู่ ตามหลอกหลอน แม้ว่าบางคนจะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ร่วมกับผู้อื่น
แต่เมื่อได้รับฟังจากคำบอกเล่า กลับรู้สึกเครียด จนทำให้เกิดอาการตื่นกลัว ราวกับว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วย
โดยกลุ่มผู้ป่วย จะแบ่งอาการออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังนี้
1.Re-experiencing
เป็นประเภทของอาการที่จะพบว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นตามมาหลอกหลอนผู้ป่วยอยู่บ่อยครั้ง มักเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยรอดความตายมาได้
แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้ว แต่กลับรู้สึกเหมือนกับว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า เช่น คนที่เคยประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว
บางครั้งเหมือนกับว่าพื้นที่ยืนอยู่กำลังไหวๆ หรือเห็นผู้คนรอบข้างวิ่งหนีกันโกลาหล แม้กระทั่งหลับตา หรือเกิดเป็นภาพฝันที่น่ากลัวต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนั้น
2.Hyperarousal
เป็นภาวะตื่นกลัวของร่างกาย ซึ่งแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว แต่ก็สามารถเกิดความรู้สึกกระวนกระวาย ร่างกายไม่ยอมสงบ รู้สึกกระสับกระสาย ใจสั่น
สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกจนนอนต่อไม่หลับ ตกใจง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่ค่อยอยู่นิ่งกับที่ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการวาดระแวงตามมาเมื่อนึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ
3.Avoidance
เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ต้องการหลีกหนีจากภาพเหตุการณ์ ที่คอยเข้ามากระตุ้นเตือน ซึ่งอาจแสดงออกมาเป็นอารมณ์เฉยชา (emotional numbing)
โดยซึ่งในกลุ่มผู้ป่วย PTSD จะพยายามหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่จะสะกิดให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ ที่จะทำให้เกิดความหวาดกลัว
ใจสั่น กระวนกระวาย ผู้ป่วยจะเลี่ยงการรับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ไม่กล้าอ่านข่าวหรือพูดคุยถึงเรื่องนั้นอีก
บางคนจำเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่ได้ ไปจนถึงการแสดงออกแบบไร้ความรู้สึกเมื่อได้เห็นภาพเหตุการณ์นั้นอีก
ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนเงียบขรึม ไม่ร่าเริง ถือว่าเป็นการป้องกันตัวเองทางจิตชนิดหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงต่อความรู้สึกหวาดกลัวได้
สาเหตุของการเกิดโรค PTSD
สาเหตุของการเกิดโรคที่พบได้ อันเนื่องมาจากการได้เข้าไปพบเจอกับเหตุการณ์ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีความสะเทือนใจอย่างรุนแรง
เช่น เหตุการณ์หายนะ สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด เหตุการณ์ธรรมชาติ สารกัมมันตรังสีรั่วไหล การก่อการร้าย และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นต้น
โดยเหตุการณ์ต่างๆ จะส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยตรง แม้จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่หากเกิดขึ้นกับคนรอบตัว โดยเฉพาะคนที่ตนเองรัก ยิ่งทำให้เกิดภาวะเครียดเรื้อรังตามมาได้สูง
อาการของโรค PTSD
อาการโดยทั่วไปที่พบได้คือความหวาดกลัว ผวา รู้สึกผิด ละอายใจ โกรธ สิ้นหวัง ซึมเศร้า ท้อแท้ มีภาพของเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
แม้จะพยายามไม่นึกถึง แต่มันก็จะตามมาหลอกหลอนซ้ำไปซ้ำมา บางคนถึงกับหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์
อย่างกรณีที่เคยขับรถชนคนตาย ก็จะไม่กล้าขับรถ ดูหนังที่เกี่ยวกับการขับรถ หรือไม่กล้าแม้แต่จะสัมผัสกับรถยนต์เลยทีเดียว
โดยอาการทั้งหมดเป็นความผิดปกติทางจิตใจ ที่จะคาดเดาว่าเป็นโรค PTSD เมื่ออาการดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องติดต่อกันมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
ขั้นตอนการรักษาโรค PTSD
การรักษา แพทย์จะใช้วิธีบำบัดให้ผู้ป่วยค่อยๆ กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีการใช้ยาในกลุ่ม Antidepressant, Adrenergic block agents และ Antianxiety ร่วมด้วย
อีกทั้งยังมีการรักษาในแนวทางอื่น เช่น การสะกดจิต การใช้จิตบำบัด หรือการให้ผู้ป่วยได้พูดคุยระบายความในใจกับผู้ป่วยคนอื่นๆ
ที่ประสบเหตุการณ์เหมือนกันมา อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ได้รับการยอมรับว่าให้ผลดีมากกว่าชนิดอื่น
คือการรักษาที่ใช้วิธีพฤติกรรมบำบัด จะถูกใช้ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรค PTSD เต็มตัวแล้ว
ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายกลับมาเป็นปกติหากทำการรักษาได้เร็ว พบว่าอาการของโรคเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานเกิน 6 เดือน
หากในรายที่มีความก้าวร้าวมาก แพทย์จะให้ยาแก้ทางจิตในขนาดที่แตกต่างกันออกไป
โดยจะเริ่มจากขนาดน้อยๆ ก่อน แต่จะถูกใช้ในระยะสั้น และให้อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
โรค PTSD เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ระยะเวลาในการรักษาจะแตกต่างกันออกไป
ช้าเร็วจะต้องดูความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ สภาพแวดล้อม ผู้คนรอบข้างว่ามีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยหรือไม่
Photo Credit : salon.com
และบางรายอาจจะมีอาการกลับมาเป็นอีกได้ ไม่หายขาด ดังนั้นเมื่อพบว่าตัวเองมีความเครียด
พบเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรงจนสะเทือนอารมณ์ ทางที่ดีควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
เพื่อจะได้ช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรง จนกระทบต่อคุณภาพชีวิตตามมาในภายหลังมากเกินไปนั่นเองค่ะ