ปวดศีรษะบ่อย อาจเกิดจากความเครียดแบบไม่รู้ตัว เกิดจากอะไร?

เครียด ปวดศรีษะ

ทำงานหนัก ปวดศีรษะเป็นประจำ ตื่นเช้ามาก็เจอกับอาการปวด แถมยังพาลมาด้วยอารมณ์หงุดหงิดน่าเบื่อหน่าย

ปวดทั้งๆ ที่หาสาเหตุไม่ได้ มีอาการแบบมัวๆ ทึมๆ หรือเหมือนกล้ามเนื้อสมองเต้นตุบๆ

อาจมาจาก อาการประปวดศีรษะจากความเครียด เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนเมือง โดยเฉพาะสาวๆ ที่ทำงานในออฟฟิศ

ราว 90 เปอร์เซ็นต์ที่พบว่ามีอาการปวดศีรษะมาก มาจากการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ

ความกดดัน งานที่ยาก การแบกรับภาระหน้าที่ ฯลฯ ที่ทำให้เกิดความคิดวิตกกังวล

เครียดอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดเป็น โรคปวดศีรษะจากเครียด ที่เรียกกันว่า Tension typed headache ขึ้นมา

แล้วแบบนี้ เราจะหาทางแก้ไขอย่างไร เมื่อในชีวิตประจำวัน ยังต้องอยู่กับปัญหาแบบเดิมอยู่ดี ?

ลักษณะอาการปวดศีรษะจากความเครียดเป็นอย่างไร ?

เนื่องจากอาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากๆ และเชื่อว่าผู้หญิงเกือบ 95 เปอร์เซ็นต์

ต้องเคยเผชิญกับอาการเหล่านี้กันมา ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดมากหรือน้อยก็ตาม

อาการปวดศีรษะมีสาเหตุที่เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัยมากๆ แต่ลักษณะของอาการปวดที่มาจากภาวะเครียดนั้น จะสามารถสังเกตได้ดังนี้คือ

1.มีอาการปวดบริเวณขมับ ท้ายทอย หน้าผาก รู้สึกอาการปวดที่บีบรัดบริเวณขมับเป็นระยะๆ

2.มีอาการปวดที่ไม่รุนแรงมากนัก ระดับจะอยู่ที่น้อยไปจนถึงปานกลาง

3.อาการปวดศีรษะจะเกิดขึ้นแบบเป็นๆ หายๆ มีอาการเป็นแรมเดือน แรมปี แต่กลับไม่พบอาการเจ็บป่วยอื่นใดของร่างกายเกิดขึ้นเลย

4.อาการปวดศีรษะที่เป็นบ่อยๆ ไม่มีการพบความผิดปกติอื่นใดภายในร่างกายเลยเมื่อทำการตรวจจากแพทย์

5.อาการปวดจากความเครียด มักจะเป็นมากกว่า 15 วัน แบบเป็นๆ หายๆ และเป็นบ่อยประมาณ 6 เดือนในรอบ 1 ปี

5.กรณีต้องทำงานในช่วงปวดศีรษะจะไม่สามารถทำได้ หรือทำได้น้อยมาก

เนื่องจากจะไปกระตุ้นอาการปวดให้มากขึ้น แม้จะเป็นการนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ตาม

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากความเครียด

อาการปวดศีรษะจากความเครียด มีสาเหตุที่เป็นต้นตอหลักก็คือ “ความเครียด”

มีผลมาจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณใบหน้าและศีรษะ แบบที่เราจะไม่ค่อยรู้ตัว

เป็นการแสดงออกทางร่างกายเมื่อเกิดความเครียด โกรธ กดดัน หรือรู้สึกไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม

แพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาการปวดจะมาจากการถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า

ที่ไปส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อและพังผืดที่อยู่รอบๆ กะโหลกศีรษะ

จากนั้นก็ไปกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางให้ผิดปกติ ซึ่งอาจพบได้ที่ไขสันหลัง

หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งมีการเชื่อมโยงมาเลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้านั่นเอง

เมื่อเส้นประสาทถูกกระตุ้น ก็จะส่งสัญญาณกลับมาที่กล้ามเนื้อรอบๆ กะโหลกศีรษะ

มีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงกล้ามเนื้อบริเวณบ่าและหัวไหล่อีกด้วย

และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเคมี โดยเฉพาะ “เอนดอร์ฟินซีโรโทนิน” และเกิดเป็นอาการปวดศีรษะตามมา

อาการดังกล่าวจะพบได้บ่อยในกลุ่มที่มีความเครียดสูง รับประทานอาหารผิดเวลา

รู้สึกหิวข้าว อดนอน ใช้สายตาทำงานมาก ไปจนถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะทางอารมณ์

เช่น โรคซึมเศร้า โรคที่เกี่ยวกับความวิตกกังวลและการควบคุมอารมณ์ นอกจากนี้อาจมีผลเกี่ยวข้องกับโรคไมเกรนได้เช่นกัน

อาการปวดศีรษะจากความเครียดที่สังเกตได้

เราอาจจะแยกไม่ค่อยออกระหว่างอาการปวดศีรษะที่ไม่ร้ายแรง กับอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นจากโรคร้ายแรง

ทั้งนี้หากเป็นอาการปวดศีรษะจากความเครียด ลักษณะเฉพาะที่สังเกตได้คืออาการปวดแบบตื้อๆ หนักๆ

โดยเฉพาะที่ส่วนของหน้าผากและขมับ อาจปวดไปถึงต้นคอด้านหลัง บ่า หัวไหล่ กลางศีรษะ

และท้ายทอยทั้งสองข้างด้วย บางรายมีอาการปวดทั่วศีรษะ รู้สึกเหมือนสมองถูกเข็มขัดบีบรัดเอาไว้

อาการปวดส่วนมากจะยาวนานประมาณ 30 นาที หากได้รับการพักผ่อนก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

แต่บางรายอาจมีอาการปวดติดต่อกันยาวนานถึง 7 วัน ขึ้นอยู่กับภาวะที่กำลังเผชิญ

อาการปวดที่เป็นแบบนานๆ ติดต่อกันหลายวัน หลายเดือน ไปจนถึงเป็นปีๆ

มักจะเป็นอาการปวดแบบคงที่ ไม่ปวดรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือมีอาการข้างเคียงอื่นใดเข้ามา

นอกจากทำให้รู้สึกรำคาญ ใช้ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข ทำงานไม่ได้ แต่หากบางรายที่มีอาการปวดรุนแรงมาก

ก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้มากเลยทีเดียว

เมื่อใดที่ควรตัดสินใจเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ?

ตามปกติแล้ว อาการปวดศีรษะในลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เพราะหากเราเพียงแค่พักผ่อนและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

หันมาดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลดความเครียดทางอารมณ์

ก็จะช่วยให้อาการปวดศีรษะดีขึ้นเป็นลำดับ และกลับมาหายเป็นปกติได้ แต่ในรายที่มีอาการปวดมากจนทนไม่ไหว

อาจต้องใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำมากเกินควร ส่งผลเสียต่อร่ากาย

โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับประทานยาแก้ปวดมากกว่า 3 อาทิตย์ขึ้นไป มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว จะเป็นลม

หรือความผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้นด้วยแล้ว ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุและจะได้ทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ขั้นตอนในการรักษาอาการปวดศีรษะจากความเครียด

การรักษาอาการปวดศีรษะจากความเครียด แก้ไขได้ที่ต้นตอ นั่นก็คือ “ความเครียด” ที่เป็นตัวการทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าว

ง่ายๆ คือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เน้นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

หากเป็นอาการปวดที่ทนได้ ไม่รุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวด และรับประทานเฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ส่วนการรักษาในทางการแพทย์ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างหนัก ร่วมกับความเครียด ซึมเศร้า จะมีการให้ยาคลายกังวล หรือยานอนหลับ เพื่อให้ผู้ป่วยได้พักผ่อน

แต่การรับประทานยาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ห้ามซื้อหายามารับประทานเองอย่างเด็ดขาด

อาการปวดศีรษะจากความเครียด
Photo Credit : ericlukepeterson.wordpress.com

อาการปวดศีรษะจากความเครียด แม้จะเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่ก็ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต

เพียงแค่รู้จักหันมาดูแลตัวเอง สังเกตสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบดังกล่าว

หลีกเลี่ยงและแก้ไขให้ตรงจุด เท่านี้เราก็จะกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ปราศจากอาการเจ็บป่วยกันได้แล้วล่ะค่ะ