อะไรที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปย่อมไม่ดีต่อสุขภาพ แม้อาหารที่รับเข้าไปจะโดดเด่นในเรื่องของประโยชน์
คุณค่าทางสารอาหาร หรือแม้จะมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกายก็ตาม เช่นเดียวกันกับอาหารมื้อหลักที่เรากิน
ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ซึ่งล้วนเป็นสารอาหารหลักที่ร่างกายต้องการนำไปใช้
แปรรูปเป็นพลังงานเพื่อกลไกต่างๆ ในร่างกาย แต่ในปัจจุบัน เรามักจะมีความเชื่อผิดๆ กับการเลือกกินอาหาร
โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ต้องการลดความอ้วน มักจะหวาดกลัวกับการกินคาร์โบไฮเดรต เพราะต่างเชื่อกันว่าสิ่งนี้ เป็นตัวทำให้อ้วนมากยิ่งขึ้นเมื่อกินเข้าไป
เข้าใจกันไปว่าหากต้องการลดน้ำหนักจะต้อง “งด” คาร์โบไฮเดรตกันไปเลย แม้น้ำหนักจะลดลง
แต่หารู้ไม่ว่าร่างกายกำลังเกิดภาวะขาดสารอาหาร กลายเป็นสัญญาณเตือนแบบเงียบๆ
ที่สาวๆ ต้องหันมาฟังเสียงร่างกายกับ “ภาวะขาดคาร์โบไฮเดรต” ที่สามารถส่งผลอันตรายร้ายแรงตามมากันได้เลยทีเดียวค่ะ
ขาดคาร์โบไฮเดรต มีผลต่อร่างกายอย่างไร?
คาร์โบไฮเดรต เป็นหนึ่งในหมู่อาหารสำคัญสำหรับร่างกาย ที่เราจำเป็นต้องได้รับอย่างเพียงพอในแต่ละวัน
สารอาหารชนิดนี้เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พบได้มากในอาหารตามธรรมชาติ
เป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์และเนื้อเยื่อ แบ่งตามขนาดของโมเลกุลออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ
น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว, น้ำตาลโมเลกุลคู่ และน้ำตาลโมเลกุลใหญ่ เราจะพบอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบอยู่ในแป้ง
น้ำตาล ธัญพืช ผัก ผลไม้ น้ำหวาน ข้าว ขนมปัง ฯลฯ เรายังสามารถพบได้ในเนื้อสัตว์ แต่ไม่มากเท่ากับในพืช
ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรตต่อร่างกาย คือสารอาหารที่ให้พลังงาน ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยเพิ่มพลังให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ในกิจกรรมชีวิตประจำวัน
โดยใน 1 กรัม คาร์โบไฮเดรตจะให้พลังงานประมาณ 4 กิโลแคลอรี่ เมื่ออยู่ในร่างกายจะเป็นส่วนประกอบของสารสำคัญ เช่น กรดนิวคลิอิค, ไกลโครโปรตีน และไกลโคไลปิด เป็นต้น
คาร์โบไฮเดรตยังทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองให้กับร่างกาย อยู่ในรูปของไกลโคเจนและแป้ง
เมื่อจำเป็นต้องนำมาใช้ จะถูกย่อยสลายให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่เรียกว่ากลูโคส
เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป หน้าที่ของสารชนิดนี้ ยังช่วยให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญไขมัน
รักษาระดับโปรตีนไม่ให้ถูกเผาผลาญ เพราะเมื่อร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตอย่างเพียงพอ ก็จะใช้เพียงส่วนนี้เป็นพลังงาน
สัญญาณอันตราย เมื่อร่างกายเกิดภาวะขาดคาร์โบไฮเดรต
อาการขาดคาร์โบไฮเดรตของร่างกาย จะส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่อาการอ่อนเพลีย
ไร้เรี่ยวแรง อ่อนล้า แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งอาการเหล่านี้มาจากที่ร่างกายหมดพลังงาน
ซึ่งจะส่งผลต่อไปคือทำให้เกิดความไม่คล่องตัว แม้จะช่วยให้ลดน้ำหนักได้อย่างที่ต้องการ ด้วยวิธีงดคาร์โบไฮเดรตไป
แต่นั่นก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพดังกล่าวตามมา ทำให้รู้สึกเหนื่อยหอบอย่างรวดเร็วเมื่อออกกำลังกาย ไม่มีสมาธิ สมองไม่สดใส
คิดอะไรไม่ค่อยออก หลงๆ ลืมๆ และยังมีสัญญาณที่เราสังเกตได้นอกเหนือจากนี้ นั่นก็คือ
ลมหายใจเหม็น
ทั้งลมหายใจที่ถูกพ่นออกมาทางจมูก หรือกลิ่นปาก เป็นสัญญาณบอกได้ว่าเรากำลังขาดคาร์โบไฮเดรต แม้จะมีสุขภาพภายในช่องปากที่สมบูรณ์ดี
แต่กลับไม่สามารถหาต้นตอของกลิ่นอันไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้ ให้สันนิษฐานเอาได้เลยว่า
ร่างกายกำลังเตือนว่าเกิดการเผาผลาญไขมันแทนคาร์โบไฮเดรตที่ไม่เพียงพอแล้ว
จนกลายเป็นภาวะคีโตซีส (Ketosis) มีการปล่อยสารคีโตนออกมา ซึ่งสารชนิดนี้คือต้นตอของกลิ่นปากและลมหายใจ
กล้ามเนื้อลดลง
เนื่องจากการที่ร่างกายมีคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ทำให้ดึงเอาโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานแทน
ซึ่งส่งผลกระทบให้มวลกล้ามเนื้อลดลง สังเกตได้ว่า แม้จะพยายามออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อสักแค่ไหน
หากยังมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป กล้ามเนื้อมัดใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น
อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ย่อยสลาย กลายเป็นหนังหุ้มกระดูกตามมา เพราะโปรตีนถูกนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง
อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ
การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป จะทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย รู้สึกหงุดหงิด เครียด เมื่อยล้า อารมณ์ไม่สดใส
เนื่องจาก คาร์โบไฮเดรต คือ สารสำคัญที่เป็นตัวช่วยผลิตเซราโทนิน สารแห่งความสุขประจำร่างกาย
เมื่อคาร์โบไฮเดรตในร่างกายต่ำ ย่อมส่งผลให้สารเซราโทนินลดลง จนกลายเป็นอารมณ์แย่ๆ เข้ามาแทนที่
ระบบทางเดินอาหารเกิดความแปรปรวน
คาร์โบไฮเดรตที่ลดลงยังเข้าไปส่งผลกับระบบทางเดินอาหาร จนทำให้เกิดความผิดปกติตามมา เนื่องจากร่างกายได้รับไฟเบอร์ไม่เพียงพอ
จนเกิดอาการท้องผูก อุจจาระแข็ง ต้องเบ่งอุจจาระนาน ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ทวารหนัก หากเป็นบ่อยๆ ยังเสี่ยงทำให้เกิดโรคริดสีดวงตามมาได้
Photo Credit : engtest.ne
จะเห็นได้ว่า เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะขาดคาร์โบไฮเดรต จะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อสุขภาพ
การลดความอ้วนอย่างถูกวิธี จึงไม่ใช่การอดอาหาร แต่ควรกินให้พอดีกับการใช้งาน
ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้มีรูปร่างที่ดีได้แบบไม่เสียสุขภาพอย่างแน่นอนค่ะ