สูงอายุอย่างสุขกายสบายใจด้วยหลักง่ายๆ

สุขภาพผู้สูงวัย

ผู้สูงอายุ หรือผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ก็มักจะพบการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม

โดยเฉพาะกับสภาพร่างกาย แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตในวัยที่ผ่านมา และปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การมีโรคประจำตัว เป็นต้น

ดังนั้น หากครอบครัวของคุณ เริ่มมีสมาชิกที่ก้าวเข้าวัยผู้สูงอายุ ก็ควรจะต้องให้การดูแลมากเป็นพิเศษ

นอกเหนือไปจากการดูแลให้มีสุขภาพที่แข็งแรง คือจะต้องดูแลทางด้านจิตใจ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ ได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ

ตามที่สภาพร่างกาย จิตใจ และเวลาจะเอื้ออำนวยด้วย ซึ่งมีหลักง่ายๆ 10 อ. ดังนี้

1. อาหาร

เพราะอาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุเหมือนกับคนในวัยอื่นๆ แต่จำเป็นต้องลดอาหารประเภทไขมัน และคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง

สำหรับอาหารประเภทโปรตีน ควรเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย และเสริมอาหารจำพวกถั่ว และผักสดผลไม้ให้มากๆ

โดยหลีกเลี่ยง ผลไม้ที่มีรสหวานจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

2. ออกกำลังกาย

ผู้สูงอายุควรมีโอกาสได้ออกกำลังกายเบาๆ อย่างน้อย 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีการทรงตัวดี สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว และไม่หกล้มง่าย

3. อนามัย

ได้แก่การดูแลสุขอนามัยโดยเฉพาะระบบขับถ่ายให้ดี รวมทั้งลด ละ เลิก สิ่งที่จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพ พฤติกรรมเสี่ยง

และควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่เริ่มมีอายุ 65 ปีขึ้นไป

4. อุจจาระ ปัสสาวะ

หากผู้สูงอายุมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย เช่น ถ่ายยาก ถ่ายลำบาก หรือกลั้นการขับถ่ายไม่ได้ ก็ควรได้รับการแก้ไขไปตามสาเหตุอย่างเร่งด่วน

5. อากาศ และแสงอาทิตย์

เพราะในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ การได้รับแสงแดดอ่อนในยามเช้า จะช่วยสลายอาการซึมเศร้า ทำให้หัวใจแข็งแรง และลดภาวะเสี่ยงจากภาวะหัวใจวายได้ด้วย

อาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย

6. อารมย์, 7. อดิเรก, 8. อนาคต และ 9. อบอุ่น

เป็น 4 อ. ที่เน้นในเรื่องของความรู้สึก และสภาพจิตใจ ที่จะช่วยให้ในแต่ละวัน ของการมีชีวิตอยู่เต็มไปด้วยความสุข มีความรื่นรมย์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

กล่าวคือ ผู้สูงอายุควรทำความเข้าใจว่า ทุกอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เพื่อจะได้รักษาอารมณ์ไม่ให้เศร้าหมอง

โดยการหางานอดิเรกที่ตนเองสนใจมาทำในยามว่าง คิดถึงอนาคตที่จะได้เห็นพัฒนาการของบุตรหลาน

รวมทั้ง เข้าร่วมในสังคมกลุ่มต่างๆ บ้าง เพราะการมีเพื่อนจะทำให้รู้สึกอบอุ่น และเห็นคุณค่าของตนเอง

10. อุบัติเหตุ

เพราะอุบัติโดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ มักสร้างความสูญเสียที่ร้ายแรง จึงควรมีการป้องกันการบาดเจ็บ และความพิการต่างๆ อันเกิดจากอุบัติเหตุ

โดยดูแลบ้าน และสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย มีแสงสว่างพอเหมาะ พื้นไม่ลื่น และมีราวจับในบางแห่งที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยๆ เช่น ห้องน้ำ เป็นต้น

ทั้ง 10 อ. ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น ในการดูแลผู้สูงอายุให้อยู่อย่างสุขกายสบายใจ ในช่วงบั้นปลายของชีวิตเท่านั้น

เพราะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่มีหลักสำคัญว่า ต้องให้ท่านได้ดำเนินชีวิตด้วยตนเอง โดยพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด จะได้เป็น “ร่มโพธิ์ร่มไทร” ของลูกหลานไปนานๆ