อาการขาดแมกนีเซียม หรือ แมกนีเซียมต่ำ (Hypomagnesemia) เป็นอาการที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักมากนัก ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่รู้ด้วยว่า
แมกนีเซียมมีความสำคัญอย่างไรต่อร่างกาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนั้น แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของเซลล์ การทำงานของกล้ามเนื้อ ร่วมทั้งการเปลี่ยนแปลงพลังงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวเคมี
ล้วนเกี่ยวข้องกับแมกนีเซียมทั้งหมด แต่หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของแมกนีเซียม ก็คือการสังเคราะห์โปรตีน
และการมีส่วนร่วมในกระบวนการเผาผลาญไขมัน และน้ำตาลของร่างกาย
อาการขาดแมกนีเซียม หรือแมกนีเซียมต่ำ คืออะไร ?
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นนั้น ก็คงจะทำให้เห็นภาพรวมของแมกนีเซียม (Magnesium) มากยิ่งขึ้น
ว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อร่างกายมนุษย์ ตามปกติแล้ว ร่างกายคนเราจะต้องได้รับแมกนีเซียมอย่างน้อยวันละ 400 มิลลิกรัม
ถ้าหากได้รับไม่พอก็จะทำให้เกิดอาการขาดแมกนีเซียมได้ และถ้าหากยังไม่มีการดูแล
หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมเป็นการชดเชย ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลเซียมในเลือดตามมาอีกด้วย
ซึ่งจะมีความรุนแรงมากขึ้น และอาจสร้างความเสียหายให้กับร่างกาย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของผู้ขาดแมกนีเซียม หรือแมกนีเซียมต่ำ
ถึงแม้ว่า อาการขาดแมกนีเซียม อาจจะไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็สามารถสร้างความทรมานและความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้ โดยมีอาการทั่วไป คือ
- การเกิดตะคริวตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ ที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
- การเคลื่อนไหวที่ไม่คล่องตัว บางครั้งอาจจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อร่วมอยู่ด้วย
- การเป็นโรคไมเกรน
- ภาวะนอนไม่หลับ ที่ส่งผลให้ไม่สามารถทานอาหารได้ จนน้ำหนักลดด้วยความรวดเร็ว
- มีปัญหาผิดปกติทางระบบประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวนตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย เกิดความสับสนไม่แน่ใจ
- ความดันโลหิตสูง
- หากมีการขาดแมกนีเซียมในปริมาณมาก อาจมีปัญหาเรื่องของระบบไหลเวียนโลหิต ที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนส่งผลกระทบกับเรื่องของการเปลี่ยนถ่ายออกซิเจนในร่างกาย บางรายอาจถึงขั้นเกิดปัญหาหลอดเลือดในสมองอุดตัน
สาเหตุของการขาดแมกนีเซียม หรือแมกนีเซียมต่ำ
ปัญหาหลัก ๆ ในเรื่องของการขาดแมกนีเซียม คือการรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้
ที่มักจะมีแมกนีเซียมมากกว่าอาหารประเภทอื่น ๆ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกหลายคนที่ขาดแมกนีเซียม จากสาเหตุดังต่อไปนี้
โรคเบาหวาน – ปกติแล้วคนที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีปัญหาเรื่องของการขับถ่ายปัสสาวะบ่อยเป็นพิเศษ และปัจจัยส่วนหนึ่ง
ที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ก็คือการขาดแมกนีเซียม จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกายได้
และเมื่อมีการปัสสาวะบ่อย ๆ เข้า ก็ยิ่งทำให้แมกนีเซียมสลายออกไปกับปัสสาวะอีกด้วย
ผู้ที่มีปัญหา หรือภาวะเสพติดแอลกอฮอล์ – แอลกอฮอล์จะเป็นตัวขับไล่แมกนีเซียมออกจากร่างกายมากขึ้นกว่าเดิม
ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องของระบบย่อยอาหาร – เช่น โรคเกี่ยวกับลำไส้ หรือโรคเกี่ยวกับกระเพาะ จนทำให้ไม่สามารถดูดซึมแมกนีเซียมได้ตามปกติ
ผู้สูงอายุที่ต้องทานยาบางประเภท – อย่างเช่น ยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่ว หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด
วิธีรักษาอาการขาดแมกนีเซียม
สำหรับการรักษาที่อาการขาดแมกนีเซียมหรือแมกนีเซียมต่ำง่ายที่สุด ก็คือ การทานอาหารที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุแมกนีเซียม
หรือทานอาหารเสริมแมกนีเซียม ในปริมาณตามที่แพทย์สั่ง และถ้าหากการขาดแมกนีเซียมนี้ มีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ
แพทย์ก็จะทำการรักษาต่อไป เช่น หากมีอาการขาดแมกนีเซียมจากโรคเบาหวาน แพทย์ก็จะทำการรักษาโรคเบาหวานควบคู่ไปด้วยนั่นเอง
อาหารป้องกันอาการขาดแมกนีเซียม
ในส่วนของการป้องกันอาการแมกนีเซียมต่ำนั้น ก็ไม่ต่างกับการรักษามากนัก ก็คือการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงดังต่อไปนี้
1.ผักโขม – ผักโขม 1 ถ้วย สามารถให้แมกนีเซียมได้มากถึง 24 มิลลิกรัม แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการของโรคไต
หรือโรคหัวใจร่วมอยู่ด้วยก็ควรหลีกเลี่ยงการทานผักโขม เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องโซเดียมสูงตามมาได้
2.ดาร์คช็อคโกแลต – อาจจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เพราะดาร์คช็อคโกแลตมักจะขึ้นชื่อเรื่องความขมที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องสั่นหัว
แต่ความจริงแล้ว ดาร์คช็อคโกแลต เป็นอาการเสริมแมกนีเซียมที่วิเศษมาก เพราะนอกจากจะเติมแมกนีเซียมให้ร่างกายเป็นปกติแล้ว
ยังสามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นบ่อเกิดของริ้วรอยต่าง ๆ ตามร่างกาย และยังช่วยให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดียิ่งขึ้น
3.นมสด – นมสด 1 แก้ว ให้แมกนีเซียมได้มากถึง 27 มิลลิกรัม และยังช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย ยิ่งถ้าได้ทานคู่กับกล้วยหอม หรือกล้วยชนิดอื่น ๆ
ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มแมกนีเซียมให้กับร่างกายได้เกือบถึง 1/4 ที่ควรได้รับต่อวันเลย
4.ถั่วดำ – ถั่วดำเพียง 1 ถ้วย ให้แมกนีเซียม 120 มิลลิกรัม เรียกได้ว่าสูงที่สุดในบรรดาอาหารทั้งหมด
แต่ส่วนมากมักจะนำมาใช้เพื่อการทำขนมหวานมากกว่าประกอบอาหารชนิดอื่น ๆ ดังนั้นจึงควรจะคำนึงเรื่องของน้ำตาล
โดยเฉพาะการให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานรับประทานด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยก็ควรรับประทานอาหารเสริมตามที่แพทย์สั่ง
และควรพักผ่อนให้เพียงพอสม่ำเสมอ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคนี้ได้อีกครั้ง
Credit : pobpad.com
อาการขาดแมกนีเซียม หรือ แมกนีเซียมต่ำ จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเลยได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มักจะมีปัญหากับเรื่องกระดูก
และระบบการทำงานของร่างกายที่เริ่มเสื่อมสภาพไปตามอายุ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปหาอาหารเสริมที่วางขายตามท้องตลาด
และห้างสรรพสินค้าทั่วไปมาบริโภคเอง เพราะอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับแมกนีเซียมที่มากเกินไปของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลเสียอื่น ๆ อีกมากมายตามมา