กินอย่างไรช่วยป้องกันการสำลักอาหารในผู้สูงอายุ

ป้องกันการสำลักอาหารในผู้สูงอายุ

วัยสูงอายุ เป็นวัยที่ระบบต่างๆ ในร่างกายเริ่มทำงานช้าลงไป โดยเฉพาะระบบการกลืนอาหาร จึงอาจทำให้เกิดการสำลักอาหารได้

ซึ่งก็มีความเป็นอันตรายมากทีเดียว เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการ สำลักอาหารในผู้สูงอายุ

เราควรจะทำความเข้าใจกับอาการนี้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการกลืนอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงอายุ

หรือ วิธีป้องกันการสำลักอาหารในผู้สูงอายุ ซึ่งเราก็ได้รวบรวมข้อมูลที่สำคัญมาฝากกัน ดังนี้

การเปลี่ยนแปลงของระบบการกลืนอาหารในวัยสูงอายุ

เพราะวัยสูงอายุจะมีระบบการกลืนอาหารที่ทำงานช้าลง จึงทำให้อาจสำลักจนเสียชีวิตได้ เราจึงไม่ควรละเลย

และจะต้องให้ความใส่ใจกับการทานอาหารของ ผู้สูงอายุ ให้มากขึ้น ซึ่งก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนเลยว่า ระบบการกลืนอาหารในวัยนี้นั้นเป็นอย่างไร

  • มีอาการปากแห้ง เนื่องจากมีการผลิตน้ำลายออกมาน้อยลง จึงทำให้กลืนอาหารได้ยากกว่าเดิม และอาจรู้สึกฝืดคออีกด้วย
  • ฟันและเหงือกไม่ค่อยแข็งแรงทำให้เคี้ยวอาหารได้ยาก ซึ่งผู้สูงอายุอาจต้องใช้เวลาในการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดนานพอสมควรเลยทีเดียว แต่บางครั้งด้วยความใจร้อน ผู้สูงอายุอาจกลืนทันทีทั้งที่ยังไม่ละเอียดพอ จึงทำให้เสี่ยงต่อการสำลักได้นั่นเอง
  • การทำงานของลิ้นและริมฝีปากเริ่มทำงานได้แย่ลง จึงต้องกลืนอาหารหลายๆ ครั้ง จึงเป็นสาเหตุให้อาจพลาดสำลักอาหารได้
  • คอหอยปิดช้าลงทำให้อาหารอาจค้างอยู่ในคอหอยนานขึ้น
  • ในขณะกลืนอาหาร ร่างกายอาจหยุดหายใจในช่วงนั้นพอดี ทำให้สำลักอาหารได้

แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการสำลักอาหารในผู้สูงอายุ

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเกิดอาการสำลักอาหาร ควรปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

1.นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร

ในขณะนั่งกินอาหาร ควรให้ผู้สูงอายุนั่งตัวตรง เพื่อให้อาหารไหลลงสู่กระเพาะอาหารได้ง่าย และช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้นด้วย

นอกจากนี้ไม่ควรให้ผู้สูงอายุนอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จ เพราะอาจมีอาหารค้างอยู่ในคอหอยโดยที่เราไม่รู้ ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุสำลักอาหารออกมาได้นั่นเอง

2.กินอาหารช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียดที่สุด

ให้ผู้สูงอายุกินอาหารช้าๆ และพยายามเคี้ยวให้ละเอียดที่สุด โดยคุณอาจจัดโต๊ะนั่งกินข้าวด้วยกันทุกๆ มื้อก็ได้

เพราะการมีลูกหลานนั่งร่วมโต๊ะอยู่ด้วย จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขและใส่ใจกับการกินมากขึ้นนั่นเอง

3.อย่ากินอาหารขณะรู้สึกเหนื่อย

ในขณะที่ผู้สูงอายุกำลังรู้สึกเหนื่อย โดยเฉพาะหลังจากเพิ่งออกกำลังกายหรือไปเดินเล่นมา ไม่ควรให้ผู้สูงอายุกินอาหารในทันที

ควรรอให้นั่งพักจนหายเหนื่อยก่อน เพราะขณะที่กำลังเหนื่อย จะหายใจถี่ขึ้นและรู้สึกหายใจลำบากมากขึ้น

หากกินอาหารในตอนนี้ก็จะไปขัดกับการหายใจ ทำให้อาจหยุดหายใจในขณะกำลังกลืนอาหารและเกิดการสำลักได้นั่นเอง

ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะกับการนั่งพักผ่อนให้หายเหนื่อย ก็คือประมาณ 30 นาที

4.อาหารควรมีขนาดพอดีคำ

อาหารผู้สูงอายุ ควรมีขนาดพอดีคำ คือไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป และควรมีความนุ่ม เพื่อให้ผู้สูงอายุเคี้ยวง่ายขึ้นด้วย

นอกจากนี้หากเป็นอาหารที่ไม่แห้งจนฝืดคอก็จะดีมาก เพราะอย่าลืมว่าต่อมน้ำลายของวัยนี้จะผลิตน้ำลายออกมาได้น้อย ซึ่งก็จะทำให้กลืนได้ยาก

5.หลีกให้ไกลจากสิ่งรบกวน

สิ่งรบกวน เช่น ทีวี วิทยุ หรือการพูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงให้ไกลหากมีผู้สูงอายุนั่งอยู่ด้วย

เพราะนั่นอาจดึงความสนใจจนทำให้ผู้สูงอายุลืมไปว่ากำลังกินข้าวอยู่ และเผลอลืมตัวกลืนอาหารที่ยังไม่ละเอียดจนสำลักได้

ทางที่ดีควรจัดห้องอาหารให้เป็นมุมที่เงียบสงบที่สุดและอย่าให้มีอะไรมาดึงความสนใจของผู้สูงอายุได้

6.กินอาหารคำละ 1 ชนิด

ในกรณีที่มีอาหารหลายๆ อย่าง ควรค่อยๆ ตักอาหารให้ผู้สูงอายุทีละอย่าง และให้ท่านกินอาหารคำละ 1 ชนิดเท่านั้น

เพื่อป้องกันการสำลัก เนื่องจากการกินอาหารหลายชนิดใน 1 คำ อาจเสี่ยงต่อการสำลักได้มากที่สุด

elderly

Credit : activeageing.nl

หากใครที่มี ผู้สูงอายุ ในบ้าน ควรดูแลเรื่องการกินอาหารของท่านให้ดี เพราะแค่เพียงละเลยไปนิดเดียว

ก็อาจทำให้เกิดการสำลักอาหารได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ควรจัดมุมกินข้าวหรือโต๊ะอาหารให้อยู่ในจุดที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกด้วย

เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้ทานอาหารได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย