ปรับพฤติกรรมก่อนร่างพัง! ที่สาวๆ ออฟฟิศควรระวังกับ “โรคออฟฟิศซินโดรม”

ออฟฟิศซินโดรม รักษาอย่างไร

โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) เป็นโรคที่พบได้มากในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงทำงาน และส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่ทำงานในออฟฟิศ

ด้วยลักษณะของการทำงานที่ต้องนั่งกับที่อยู่ตลอดเวลา ร่างกายจึงไม่ได้เคลื่อนไหว ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง

อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดเมื่อย อาการเมื่อยล้าดวงตาจากการจ้องหน้าจอนานๆ

ซึ่งอาการเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นนิสัย ไม่มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยแล้ว ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดโรคตามมาในอนาคตได้อย่างมากมายเลยทีเดียวค่ะ

รู้จักกับโรคออฟฟิศซินโดรมกันให้มากขึ้น

โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นการเรียกชื่อของกลุ่มโรคที่พบในคนทำงานออฟฟิศ สาวๆ ส่วนมากที่ต้องนั่งเก้าอี้อยู่กับจอคอมพิวเตอร์ มือรัวอยู่กับแป้นพิมพ์ตลอดทั้งวันแบบนี้ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ซึ่งโรคนี้มักมาจากการที่ร่างกายขาดการเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ การนั่งแบบผิดท่าเป็นประจำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ล้า และเกิดอาการเกร็งขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

กว่าจะมีสัญญาณเตือนบอก ก็กลายเป็นภาวะกล้ามเนื้ออักเสบแบบเรื้อรัง โดยมากจะพบอาการปวดเหล่านี้บริเวณนิ้ว ข้อมือ หลัง หัวไหล่ กระบอกตา และขา

ส่วนระดับอาการปวดมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ระยะเวลา รวมไปถึงโรคที่เกิดขึ้นด้วย นอกเหนือจากนี้ อาจมี อาการตาพร่ามัว มึนหัว ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เวียนหัว อยากอาเจียน

ซึ่งหากรุนแรงอาจส่งผลไปยังกระดูกสันหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนตัว เข้ากดทับเส้นประสาท บางครั้งอาจเกิดการสะสมตัวของหินปูนตามข้อ

เกิดส่วนของกระดูกใหม่งอกขึ้นมาเกาะอยู่ตรงส่วนไขสันหลัง ทำให้เกิดเป็นอาการปวดแบบเรื้อรังร่วมกับอาการชา

และหากปล่อยทิ้งไว้นาน ก็จะยิ่งทำให้การรักษายุ่งยาก จนถึงขั้นผ่าตัด และอาจจะไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกเลยก็เป็นได้

พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

สำหรับลักษณะพฤติกรรมที่สาวๆ พึงระวังเอาไว้ก่อนที่ตัวเองจะกลายเป็น โรคออฟฟิศซินโดรม คือมีนิสัยนั่งทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ยอมขยับไปไหน

นั่งจ้องหน้าจอติดต่อกันมากกว่า ชั่วโมงโดยไม่พักสายตา เก้าอี้และโต๊ะที่นั่งทำงานไม่สัมพันธ์กับสรีระของตัวเอง จนทำให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

หากมีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าจะเป็นเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็ถือว่ ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเราได้ หากยังคงปล่อยปะละเลยตัวเอง

การรักษาผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม

สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ที่จะเป็นตัวเสริมให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

ส่วนในกลุ่มที่มีกระดูกงอก มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือมีการกดทับของเส้นประสาทบริเวณไขสันหลัง การรักษาอาจต้องทำด้วยแพทย์ ซึ่งมีทั้งแบบที่ไม่ต้องผ่าตัดและแบบผ่าตัด

ในส่วนของการรักษาแบบไม่ผ่าตัด จะมีการให้ยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัดจนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายไปเอง

ส่วนในการผ่าตัดจะเกิดขึ้นเมื่อการรักษาจากภายนอกไม่สามารถช่วยได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ด้วยนั่นเอง

หลักป้องกันก่อนเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

สำหรับใครที่รู้ตัวว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง ก่อนจะเสียสุขภาพไปกับโรคออฟฟิศซินโดรม ควรหาทางป้องกันตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ

ตั้งแต่การจัดสรรสภาพแวดล้อมภายในที่ทำงานให้ดูสบายตา ปลอดโปร่ง สิ่งของวางจัดเรียงเอาไว้ให้เป็นระเบียบสวยงาม ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสร้างความผ่อนคลายทางจิตใจไม่ให้เกิดความตึงเครียด

หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่กับที่นานๆ ในท่าทางที่รู้สึกว่า ร่างกายกำลังเกร็ง หากเป็นงานที่นั่งทำกับหน้าจอ ควรตั้งจอคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับลำตัว

หน้าจอตรงกับระดับสายตา หลังเอนติดกับพนักพิง วางเท้าโดยให้เข่าขนานกับพื้น โดยส่วนของเท้าจะต้องวางพอดีกับพื้น ไม่มีการเขย่ง หากเท้าไม่แตะพื้นก็ควรปรับเก้าอี้ลงมาให้พอดี

พยายามหลีกเลี่ยงการจ้องหน้าจอนานๆ ทุก 20-30 นาทีควรพักสายตาจากจอ มองต้นไม้สีเขียว หรือพื้นที่สีฟ้าเข้มไม่สว่างจ้าที่ทำให้รู้สึกสบายตา

ท่าบริหาร โรคออฟฟิศซินโดรม

Photo Credit : healthiermn.com

นอกเหนือจากนี้ ก็ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ลุกขึ้นเดิน ยืน หรือยืดเส้นสายบ้างเป็นครั้งคราวทุกชั่วโมง

เมื่อเสร็จงานจากหน้าจอแล้วก็ควรพักผ่อน หลีกเลี่ยงการเล่นอยู่กับ หน้าจอมือถือ หลังจากนั้น แบ่งเวลาให้กับการออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และฝึกตัวเองไม่ให้เกิดความเครียดจนติดเป็นนิสัย

ก็จะช่วยให้สาวๆ ห่างไกลจากโรคออฟฟิศซินโดรม กันได้แล้วล่ะค่ะ