หากพูดถึง สารต้านอนุมูลอิสระ สาวๆ หลายคนอาจจะรู้จักกันดี เพราะสารนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ผิวพรรณสาวๆ อ่อนเยาว์
เนื่องจากมันช่วยชะลอความแก่และชะลอความเสื่อมสภาพของร่างกายได้ดีนั่นเอง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการต่อต้านโรคได้อีกด้วย
โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างมะเร็ง ซึ่งวันนี้เราก็จะพาคุณมาทำความรู้จักกับสารต้านอนุมูลอิสระกัน
โดยสารสำคัญที่เราจะพูดถึงอีกชนิดก็คือ โพลีฟีนอล ว่าแต่สารชนิดนี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
โพลีฟีนอล คืออะไร?
โพลีฟีนอล (Pholyphenols) เป็นสารอินทรีย์ที่จัดอยู่ในกลุ่มของสารประกอบฟีนอลิค ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระประเภทหนึ่ง
สามารถต้านอนุมูลอิสระซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ อาการเสื่อมของร่างกาย ลดอาการอักเสบในโรคต่าง ๆ
และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งพบได้ในพืชหลายชนิด อาทิ
1.ผลไม้ เช่น กีวี มะเขือเทศ แอปเปิล ส้ม องุ่น สตรอเบอรีกับลูกเบอรีชนิดต่าง ๆ และลูกไหน (พลัม) พบมากในองุ่นแดง และเปลือกกีวี
2.ผัก เช่น หัวบีต ข้าวโพด หอม หัวอัลฟาฟา ผักโขม คะน้า ลูกกระหล่ำ ดอกบล็อคโคลี่ กระเทียม และพริกหวานลูกใหญ่สีแดง
นอกจากนี้ สารโพลีฟีนอลยังพบมากใน ชา โดยเฉพาะชาเขียวกับชาดำ และโกโก้ที่นำมาใช้ในการทำช็อกโกแลตและเป็นสารแต่งกลิ่นรสสำหรับขนมต่าง ๆ
สารโพลีฟีนอลในชาเขียว ต้านโรคหัวใจกับมะเร็งได้
ใบชาเขียวมีสารสำคัญอย่าง เคทิชิน เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
มีสรรพคุณเป็นสารแอนติออกซิแด็นซ์ หรือสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยในการต้านโรคได้มากมาย
ไม่ว่าจะเป็น ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง ซึ่งจากรายงานการแพทย์ทั่วประเทศของญี่ปุ่น
ในปี ค.ศ.1982 กับ ค.ศ.1987 พบว่าท้องถิ่นที่มีการบริโภคชาเขียวกันมาก ในแถบจังหวัดมิตซูโอกะ
มีอัตราของการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และยังมีรายงานของทีมวิทยาศาสตร์จากศูนย์กลางการวิจัยโรคมะเร็ง
ในบริติชโคลัมเบีย พบว่าสารแคทิชินที่อยู่ในชาเขียว สามารถช่วยในการยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้
และยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้น ที่ศึกษาสรรพคุณของชาเขียวเกี่ยวกับการชะลอมะเร็งต่อมลูกหมาก ลำไส้ใหญ่กับหลอดอาหาร
พบว่าให้ผลในทางบวก โดยมีงานวิจัยหนึ่งได้ทำการศึกษากลุ่มผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมจำนวน 472 คน
พบว่า คนที่บริโภคชาเขียวมากที่สุดมีการแพร่กระจายของโรคน้อยที่สุด และพบว่าผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะแรก
ในทุก ๆ วัน มีการบริโภคชาเขียวอย่างน้อย 5 ถ้วย ต่อ 1 วัน มีแนวโน้มต่ำที่จะเป็นซ้ำอีก หลังรับการรักษาอย่างครบถ้วน
แต่ทั้งนี้พบว่าการบริโภคชาเขียวไม่ส่งผลใด ๆ ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย และแม้ชาเขียวจะมีประโยชน์
แต่การบริโภคชาเขียวในปริมาณมาก และดื่มติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะส่งผลเสียต่อตับ ซึ่งมีรายงานการวิจัยในหมูเม้าส์
พบว่า สาร EGCG (epigallocatechin gallate) จะส่งผลให้ตับถูกทำลายเพียงเล็กน้อย เมื่อบริโภคชาเขียวในขนาดสูง (2,500 มก./กก.)
ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน และหากบริโภคในขณะที่เป็นไข้ ก็จะทำให้ความเป็นพิษต่อตับเพิ่มมากขึ้น โดยการบริโภคชาเขียวนั้น
จากข้อมูลงานวิจัยความเป็นพิษของชาเขียว พบว่าการบริโภคชาเขียวควรจะดื่มไม่เกินวันละ 10 – 12 ถ้วย
ทั้งนี้ชาเขียวยังมีคาเฟอีน การบริโภคมาก ๆ อาจส่งผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ดังนั้นแล้วการบริโภคชาเขียว
จะต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น โดยบริโภควันละ 3 ถ้วย ในระหว่างมื้ออาหาร
และชงชาเขียวโดยชงใบชาประมาณ 1-2 ช้อนชาในน้ำร้อน ก็จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ และไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
ในส่วนของการบริโภคชาเขียว นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ได้กล่าวว่า
การดื่มชาร้อนมีผลวิจัยระบุเอาไว้ว่า สารต้านอนุมูลอิสระในชาจะหายไปประมาณ 20% เมื่อโดนความร้อนเป็นเวลานาน ๆ
ซึ่งนพ.กฤษดาได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการชงชาเชียวให้สารต้านอนูลอิสระยังคงอยู่ ด้วยการบีบมะนาวลงไปในระหว่างการชงชา
โพลีฟีนอล สารต้านอนุมูลอิสระ ดีอย่างไร?
1.ช่วยลดความดันโลหิต เกิดจากการที่ไตหลั่งเอนไซม์ ACE คือเอนไซม์ที่สร้างจากปอดกับไต
มีหน้าที่ในกระบวนการทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งสารโพลีฟีนอลจะเข้าไปช่วยยับยั้งการหลั่งของเอมไซม์ตัวดังกล่าว
2.สารโพลิฟีนอลมีคุณสมบัติต่อต้านออกชิเดชัน จึงช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งกับเนื้องอก
3.สารโพลีฟีนอล ช่วยป้องกันโรคหัวใจกับเส้นโลหิตแตกในสมอง เพราะสารโพลีฟีนอล ช่วยเพิ่มระดับ HDL cholesterol
(เอ็ชดีแอลคอเลสเทอรอล) เป็นคอเลสเทอรอลที่ช่วยในการกำจัดเกล็ดเลือดที่เกาะอยู่ตามผนังเส้นเลือดใหญ่ออกไป
และช่วยลดระดับ LDL cholesterol (แอลดีแอลคอเลสเทอรอล) กับไตรกลีเชอไรด์
4.ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โพลีฟีนอลช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะมีเลส (amylase) ซึ่งทำหน้าที่เร่งการย่อยโมเลกุลแป้งไปเป็นน้ำตาล
5.โพลีฟีนอลมีคุณสมบัติต่อต้านการออกชิเดชัน จึงช่วยชะลอความแก่ และช่วยทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมโทรมช้าลง
6.ช่วยในการรักษาอาการอักเสบต่าง ๆ
7.ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียกับไวรัสต่าง ๆ ซึ่งการดื่มชาอาจลดความเสี่ยงของการเกิดอาหารเป็นพิษ
ช่วยทำลายแบคทีเรียที่เป็นโทษอื่น ๆ ช่วยฆ่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นปากและฟันผุ
8.ช่วยในการยับยั้ง catechol-O-methyl transferase ทำให้เกิดการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างความร้อนได้ดีขึ้น
จึงช่วยให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญพลังงานโดยการละลายไขมัน ทำให้สามารถจัดการกับความอ้วนได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
Credit : traiestesanatoscusimona.ro
ทราบกันไปแล้วนะคะว่า โพลีฟีนอล สารต้านอนุมูลอิสระ ดีอย่างไร? ใครที่อยากรู้ว่าสารนื้คืออะไร และมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
จากนี้ก็คงได้คำตอบกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น อย่าลืมหันมารับประทานอาหารที่มี สารโพลีฟีนอล ดังกล่าวเยอะๆ เป็นประจำนะคะ
เพื่อจะได้เสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และช่วยชะลอความแก่ ดีต่อผิวพรรณอย่างมากด้วยค่ะ