ไมเกรน (Migraine Headache) คือ อาการปวดหัวเรื้อรัง ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดหัวธรรมดาทั่วไปตรงที่จะเริ่มปวดเฉพาะแค่บางจุด ปวดตุ๊บๆ เป็นระยะๆ แบบที่หลายคนมักบอกว่า ปวดหัวข้างเดียว โดยอาการปวดหัวไมเกรนจะปวดรุนแรงในระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก อาการปวดจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย อาการปวดหัวจะคงอยู่นานหลายชั่วโมง แล้วจึงค่อยบรรเทาลง ซึ่งระหว่างที่ปวดหัวไมเกรน ผู้ป่วยมักรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
สาเหตุของไมเกรน
ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันชัดเจนว่า สาเหตุของอาการปวดหัวไมเกรนที่แท้จริง เกิดขึ้นเพราะอะไร แต่ในทางการแพทย์เชื่อว่า น่าจะเกิดจากความผิดปกติของระดับสารเคมีและระบบไฟฟ้าในสมอง เป็นเหตุให้เกิดการกระตุ้นที่เส้นประสาทในสมอง เกิดการหลั่งสารบางชนิดที่มีผลทำให้หลอดเลือดในสมองขยายตัวจนเกิดการอักเสบ เป็นผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า อาการปวดหัวไมเกรนสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม
อาการของไมเกรน
อาการปวดหัวไมเกรน มักเป็นอาการปวดหัวข้างเดียว หรืออาจเริ่มจากปวดข้างเดียวแล้วจึงปวดเพิ่มขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ระดับความปวดมีตั้งแต่ปานกลางจนถึงรุนแรง และจะยิ่งรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อขยับตัวเคลื่อนไหว โดยอาการปวดจะมีผลต่อเนื่องหลายชั่วโมง บางหลายอาจปวดนานถึง 72 ชั่วโมง
นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นพร้อมกันขณะปวดหัวไมเกรน เช่น ปวดเมื่อย มึนศีรษะ คลื่นไส้ เห็นภาพซ้อน รู้สึกเพลีย แขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยไมเกรนบางรายจะรู้สึกปวดหัวไมเกรนเมื่อเจอกับสิ่งกระตุ้น เช่นเจอแสงจ้า หรือได้ยินเสียงดัง รวมทั้งการที่ร่างกายต้องเจอกับความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ พักผ่อนไม่ตรงเวลา หรือเจอกับสภาพอาการที่เปลี่ยนแปลง ร้อนจัด หนาวจัด รวมทั้งในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงเป็นประจำเดือน ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นกัน
วิธีรักษาและป้องกันไมเกรน
การักษาโรคไมเกรนนั้น แพทย์จะให้ความสำคัญในเรื่องของการบรรเทาอาการปวดหัว และเน้นเรื่องการป้องกันและลดความถี่ของการเกิดอาการปวด ซึ่งการรักษามีทั้งการทานยา และการบำบัดด้วยวิธีการนวดกดจุด การปรับเปลี่ยนวิธีการนอน สำหรับการรักษาด้วยยา
เนื่องจาก อาการปวดหัวไมเกรน มีระดับความปวดและสาเหตุของอาการปวดที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ชนิดของยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดจึงต้องขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน เริ่มจากหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ พักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญคือต้องรู้จักบริหารความเครียดที่เกิดขึ้น ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่จมอยู่กับความทุกข์ หรือคิดมากจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ