โรคข้อเข่าเสื่อม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุหรือวัยใดก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ย่อมทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน
หรือแม้แต่การยกของค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะแม้กระทั่งการเดินเหินปกติก็ว่าลำบากแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มักคิดว่าตนเองไม่สามารถออกกำลังกายได้ หรือมีขีดจำกัดในการออกกำลังกายน้อยลง
จนพลอยปิดโอกาสในการออกกำลังกาย และส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปในที่สุด แถมยิ่งทำให้ภาวะของโรคข้อเข่าเสื่อม
ยิ่งทวีอาการรุนแรงหนักขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วนะคะที่คุณจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
แท้จริงแล้ว ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม หรือผู้ที่มีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อม ยิ่งควรหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อช่วยชะลอไม่ให้ข้อเข่ายิ่งเสื่อมสภาพมากขึ้น และยังช่วยลดอาการปวดเข่าลงได้อีกด้วย
วิธีออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มีอะไรบ้าง?
อย่างที่เราบอกให้ทราบกันไปเบื้องต้นแล้วว่า ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เพื่อช่วยลดอาการปวด อาการตึงของข้อเข่า และช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของข้อได้มากยิ่งขึ้น
วันนี้เราจึงนำ วิธีออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มาฝาก มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
1.เดิน
การเดินถือเป็นวิธีออกกำลังกายที่ทำง่าย และให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้ดีอย่างมากทีเดียว
เพราะสามารถช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นได้ และยังลดการบาดเจ็บในบริเวณข้อเข่าได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาพบว่า การเดินเพียงแค่วันละ 30 นาที กลับสามารถทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอาการที่ดีขึ้นได้
ดีกว่าการใช้ยาต้านภาวะของโรคด้วยซ้ำ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม หากการเดินมีภาวะผิดปกติก็อาจใช้ไม้เท้าช่วยค้ำยันอีกทีก็ได้
แต่ที่แน่ๆ จะช่วยให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลายและช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของข้อเข่าได้มากยิ่งขึ้นแน่นอน
2.ออกกำลังกายในน้ำ
การว่ายน้ำ หรือการออกกำลังกายในน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างมากที่สุด
เพราะการออกกำลังกายในน้ำ จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุเหมือนเช่นทางบกได้ เนื่องจากน้ำจะคอยโอบอุ้ม
และประคองน้ำหนักตัวเราไว้ ทำให้ลดโอกาสในการกระแทกได้มากกว่า ไม่เพียงเท่านั้น น้ำยังช่วยเพิ่มแรงต้านทานให้กับร่างกาย
จึงส่งผลดีมายังกล้ามเนื้อ และหากได้ออกกำลังกายในน้ำอุ่นด้วยแล้วล่ะก็จะยิ่งทำให้อาการปวดข้อเข่า อาการอักเสบ
และอาการตึงลดลงได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องว่ายน้ำเก่งแล้วจะต้องเลือกออกกำลังกายในน้ำแต่เพียงเท่านั้น
เพราะเพียงเลือกออกในบริเวณที่มีระดับตื้นของสระว่ายน้ำแล้วออกกำลังกายก็ถือว่าปลอดภัยแล้ว
อย่างไรก็ดี ไม่ควรว่ายน้ำในท่ายากหรือว่ายท่ากบเด็ดขาด เพราะอาจจะยิ่งทำให้ข้อเข่ามีอาการปวดมากขึ้นได้
Credit : pinterest.com
3.วารีบำบัด
วารีบำบัด เป็นการออกกำลังกายในสระน้ำที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อบำบัดปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยภายในสระน้ำโดยเฉพาะ
การออกกำลังกายในรูปแบบวารีบำบัด จะช่วยบรรเทาอาการปวดตึงบริเวณข้อเข่าลงได้ และช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น
เนื่องจากน้ำภายในสระจะมีอุณหภูมิ 34 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ น้ำยังทำหน้าที่ในการโอบประคองหรือพยุงร่างกายของเราเอาไว้
จึงช่วยลดแรงกระแทกจากการออกกำลังกายได้ค่อนข้างสูง หรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ แต่กระนั้น การออกกำลังกายแบบวารีบำบัด
โดยส่วนใหญ่มักจะต้องออกกันในสระน้ำลึก อาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถลงไปในสระได้สะดวก แต่อย่างไรก็ดี ไม่ต้องเป็นกังวลเกินไปหรอกค่ะ
เพราะการออกกำลังกายประเภทนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ที่คอยให้การควบคุมดูแล และคอยให้การช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา
ผู้ป่วยจึงมั่นใจได้เลยว่า การออกกำลังกายแบบวารีบำบัดย่อมได้รับความปลอดภัยกลับมาอย่างแน่นอน
4.โยคะ
โยคะ เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่ปลอดภัย และมาพร้อมความผ่อนคลายได้ดีทีเดียว เพราะเป็นการออกกำลังกาย
ที่ผสมผสานการเคลื่อนไหวของร่างกายกับการหายใจ ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ยังมีผลการศึกษาในปี 2011 พบว่า ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับการฝึกโยคะเป็นประจำ ร่างกายกลับมีอาการปวดและบวมที่เข่าลดลง
ไม่เพียงเท่านั้นนะคะ การเล่นโยคะยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกายผู้ป่วยในวัยผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
5.ไทเก็ก
ไทเก็ก เป็นรูปแบบการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นศิลปะการป้องกันตัวของจีนที่มีการผสมผสานกัน
ระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกายในแบบช้าๆ และมาพร้อมท่วงท่าที่ให้ความอ่อนโยน โดยมุ้งเน้นทางด้านจิตใจเป็นหลัก
และยังช่วยปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถออกกำลังกายแบบไทเก็กได้อย่างหมดกังวล
และยังได้รับประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายอย่างมากอีกด้วย เพราะการรำไทเก็กจะช่วยสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ
อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดและเครียดให้ลดลงได้ด้วย ทั้งนี้ ยังเคยมีการรายงานไว้อีกด้วยว่า ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มีแนวโน้มว่าอาการจะดีขึ้นเมื่อได้รำไทเก็ก
6.ยืดกล้ามเนื้อ
สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง ส่วนหนึ่งก็มาจากการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยเช่นกัน เพราะอาการเจ็บปวดจะทำให้ผู้ป่วยจำต้องเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงนั่นเอง
และนั่นจะยิ่งส่งผลทำให้อาการยิ่งแย่ไปมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ดังนั้น การหมั่นฝึกยืดกล้ามเนื้อย่อมช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้น
และสามารถช่วยรองรับข้อเข่า ทำให้อาการเจ็บปวดลดลงได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น การผู้ป่วยต้องการออกกำลังกายโดยการฝึกยืดกล้ามเนื้อ
แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนออกจะดีที่สุด เพื่อแพทย์จะได้เริ่มต้นดูแลอาการควบคู่ไปพร้อมๆ กับการออกกำลังกายประเภทนี้นั่นเอง
7.ปั่นจักรยาน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น ล้วนเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ โดยมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจสูง
ด้วยเพราะโอกาสในการออกกำลังกายที่มีน้อยลง ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเต็มที่
เหมือนช่วงที่เคยออกกำลังกายแบบเต็มประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอครั้งก่อน และหากจะให้กลับไปออกกำลังกายในรูปแบบเดิมก็อาจส่งผลเสียต่อข้อเข่าได้อีกเช่นกัน
เพราะฉะนั้น รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุดก็คือ การปั่นจักรยานนั่นเอง การออกกำลังกายด้วยวิธีการปั่นจักรยาน
นับเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่สุดแล้ว เพราะสามารถกระตุ้นให้เลือดเกิดการสูบฉีดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
ดีต่อระบบการทำงานของหัวใจ ทั้งยังสามารถลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อีกทั้งการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน
ยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ขา และช่วยลดอาการตึงของข้อเข่าในช่วงเวลาตอนเช้าลงได้อีกด้วย
สำหรับวิธีการออกกำลังกายดังกล่าว ควรออกโดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที และควรปั่นจักรยานแต่เพียงเบาๆ ไม่หักโหม
อานที่นั่งก็ควรปรับให้มีระดับที่เข่าสามารถงอได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการปรับโดยไม่ให้มีระดับแรงต้านมากจนเกินไป ไม่เช่นนั้น อาจทำให้เกิดข้อเข่าอักเสบขึ้นได้
Credit : white-lines.de
จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็น โรคข้อเข่าเสื่อม ยังคงสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ โดยเฉพาะรูปแบบการออกกำลังกายที่เรานำมาฝาก
ล้วนเป็นวิธีที่จะช่วยลดอาการเจ็บปวด อาการตึงข้อเข่าและช่วยยืดอายุข้อเข่าไม่ให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้นได้
เพราะฉะนั้น จึงควรหันมาใส่ใจออกกำลังกายในรูปแบบที่เหมาะสมกับสุขภาพเป็นประจำ
หรือหากใครไม่มั่นใจว่า การออกกำลังกายรูปแบบใดจะเหมาะสมมากกว่า ก็อาจปรึกษาแพทย์ก่อนออกก็ได้