ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เป็นภาวะที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่า อยู่ดี ๆ หัวใจก็เต้นเร็วผิดปกติ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย
ยืนเฉย ๆ ก็รู้สึกได้ หากนาน ๆ เกิดขึ้นสักครั้งแล้วหายไปเองภายในไม่กี่นาทีต่อมา ก็อาจไม่ค่อยกังวลเท่าใดนัก
แต่ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็เริ่มไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองจะเป็นโรคอะไรหรือเปล่า หรือจะมีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้นบ้าง
เราจึงขอสรุปเรื่องของภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติมาให้ได้ศึกษากัน เพื่อจะได้รู้แนวทางว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากมีภาวะนี้เกิดขึ้น
ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คืออะไร?
ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia) เป็นภาวะผิดปกติของร่างกายชนิดหนึ่งที่เกิดจากการอยู่ดี ๆ หัวใจก็เต้นเร็วผิดปกติเอง
โดยที่ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เกิดการสูบฉีดของหลอดเลือด อย่างเช่น การออกกำลังกาย หรือการยกของหนักแต่อย่างใด
บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้เองโดยเป็นการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อความเครียด หรือความตื่นเต้นต่อสถานการณ์ที่กำลังบีบบังคับอยู่ในขณะนั้น ๆ
แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เช่น การที่ต่อมไทยรอยด์ทำงานเกินปกติ (Hyperthyroidism)
การเสียเลือดกะทันหันจากอุบัติเหตุ รวมทั้งการได้รับคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปจากอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย
สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
ถึงแม้ว่าสาเหตุหลัก ๆ ของภาวะหัวใจเต้นเร็ว จะเกิดจาก 3 ปัจจัยข้างต้นดังที่บอกไป
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีก เพราะการทำงานของหัวใจนั้นจะมีระบบที่ทำงานคล้ายกับการส่งคลื่นสัญญาณแบบไฟฟ้า
ไปยังระบบปั๊มเลือด เพื่อให้มีการสูบฉีดเลือดตามปกติ แต่การที่หัวใจจะเต้นเร็วกว่าปกติได้นั้น
จะต้องเกิดจากการที่มีอะไรบางอย่างไปรบกวนคลื่นสัญญาณจนทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากปัจจัยต่อไปนี้
- การเป็นโรคหัวใจ ที่เป็นสาเหตุให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป
- การมีภาวะโลหิตจาง (Anemia)
- การเป็นโรคเกี่ยวกับความดัน ไม่ว่าจะความดันต่ำหรือสูงก็มีโอกาสทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้
- มีอาการท้องเสีย จนเป็นเหตุให้สูญเสียเกลือแร่ และน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่ง ผลต่อการเต้นของหัวใจโดยตรง
- การใช้สารเสพติดชนิดต่าง ๆ
- ผลข้างเคียงของการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
- บุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติมาก่อน ก็เป็นไปได้ว่าจะช่วยเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติมากขึ้น
อาการของภาวะหัวใจเต้นเร็วปิดปกติ
ถึงแม้ว่าบางครั้ง ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีระยะเวลาในการเกิดเพียงไม่กี่นาที แต่ก็อาจส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ
ไม่สามารถรับออกซิเจนได้อย่างเพียงพอได้ เพราะหัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้อย่างที่ควรจะเป็น หากมีอาการรุนแรงมักพบว่ามีอาการร่วมดังต่อไปนี้
- ใจสั่น
- เวียนศีรษะ
- หอบเหนื่อย
- เป็นลมหมดสติ และอาจถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้
- ถ้าหากภาวะหัวใจเต้นเร็ว มาจากสาเหตุของโรคหัวใจ อาจเกิดภาวะเจ็บหน้าอกร่วมด้วย
- ถ้าหากภาวะหัวใจเต้นเร็ว มาจากสาเหตุของโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ก็จะมีอาการของโรคประสาทแฝงอยู่
เพราะฉะนั้น หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัว มีอาการในลักษณะดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์
เพื่อทำการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง เพราะโรคที่เกิดขึ้น อาจมีความรุนแรงมากกว่านี้ก็เป็นได้
วิธีการรักษาหัวใจเต้นเร็ว
ปกติแล้ว แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติว่ามีสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร
เพื่อจะได้รักษาให้ถูกจุด อย่างเช่น ถ้าหากมีสาเหตุมาจากโรคไทรอยด์ หรือโรคหัวใจ แพทย์ก็จะทำการรักษาตามสาเหตุก่อน
พร้อมกันนี้ก็จะหาวิธีชะลอการเต้นของหัวใจไม่ให้เต้นเร็วจนเกินควร ซึ่งสามารถทำได้โดย 3 วิธีดังต่อไปนี้
การรักษาด้วยยา – อาจเป็นยาฉีด หรือยาทาน เพื่อควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
การรักษาด้วยการช็อกหัวใจแบบไฟฟ้า (Cardioversion) – มักจะมีลักษณะเป็นเครื่องอัตโนมัติ
หรือเป็นแผ่นแปะที่หน้าอก การจะรักษาด้วยวิธีนี้ ก็ต่อเมื่อมีความรุนแรงค่อนข้างมาก และเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นเท่านั้น
การรักษาด้วยวิธี Vagal Maneuvers – เป็นการกระตุ้นประสาทเวกัส โดยการนั่งยอง ๆ
แล้วนำถุงนำแข็งมาวางบริเวณหน้าและหน้าผาก จะช่วยชะลออัตราการเต้นของหัวใจได้
วิธีการป้องกันหัวใจเต้นเร็ว
เมื่อทำการรักษาเบื้องต้นแล้ว แพทย์มักจะหาวิธีป้องกันภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติควบคู่ไปด้วย โดยวิธีการดังนี้
1.รักษาด้วยยา – ถึงแม้ว่าแพทย์จะสั่งยาต้านภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติแล้ว ก็อาจจะมีบางครั้งที่แพทย์จะให้ยา
เพื่อช่วยป้องกันการเกิดภาวะนี้ซ้ำในอนาคตด้วย ตัวอย่างยาที่นำมาใช้ป้องกัน คือ เบตาบล็อกเกอร์ และแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์
2.รักษาด้วยการจี้หัวใจ – ฟังดูแล้วอาจจะน่ากลัวไปสักนิด แต่เป็นวิธีป้องกันที่ค่อนข้างได้ผลดี โดยแพทย์จะใช้สายสวนหัวใจ
เพื่อหาความผิดปกติผ่านทางอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อค้นหาความผิดปกติที่ไปขัดขวางคลื่นสัญญาณไฟฟ้า
อันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ เมื่อพบแล้วก็จะจี้ทำลายปัญหานั้น ๆ ต่อไป
3.การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้ากระตุ้น (Pacemaker) – เป็นอุปกรณ์สำหรับปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ
4.การฝังเครื่องกระตุกหัวใจ – หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แพทย์ก็อาจจะเลือกใช้การฝังเครื่องกระตุกหัวใจ
บริเวณใต้ผิวหนังช่วงหน้าอก เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจ และเมื่อมีความผิดปกติก็จะส่งคลื่นไฟฟ้าไปช่วยควบคุม
เช่นเดียวกับเครื่อง Pacemaker
5.การผ่าตัด – เป็นวิธีสุดท้าย ต่อเมื่อไม่เหลือทางเลือกใด ๆ และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ โดยแพทย์จะต้องทำการหาสิ่งแปลกปลอม
หรือเนื้อเยื่อที่เข้าไปขัดขวางคลื่นสัญญาณไฟฟ้า จนทำให้ระบบปั๊มเลือดของหัวใจทำงานผิดปกติ จากนั้นจึงทำการผ่าตัดออกไป
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว เราสามารถดูแลตัวเองได้ เพื่อให้ร่างกายสามารถรักษาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมคอเลสเตอรอล และความดันโลหิต รวมทั้งน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเข้าไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยบรรเทา และป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้แล้ว
Credit : vospalenia.ru
ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาจจะดูเหมือนเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และไม่น่ากลัวเมื่อเทียบกับโรคหัวใจจริง ๆ แต่ใครจะรู้ว่าผลกระทบของมันนั้น อาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลให้เกิดการขาดออกซิเจนของอวัยวะ หรืออาจมีอาการหัวใจวายที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะฉะนั้น หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ก็ไม่ควรเพิกเฉย ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องต่อไป