สาวๆ พึงระวังกับการทำงานติดต่อกันอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือใช้นิ้วจิ้มมือถือบ่อยๆ กลายเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิด โรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท (Carpal Tunnel Syndrome)
สาเหตุจากการใช้ข้อมือนานๆ เช่น อาชีพแม่บ้าน พ่อค้าแม่ขายข้าวหรือส้มตำ หรืออาชีพที่ต้องใช้มือจับอุปกรณ์ทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆนานๆ จะมีอาการชาหนาๆ และปวดร่วมด้วยบริเวณข้อมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง เป็นมากเวลากลางคืน บางคนมืออาการกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงร่วมด้วย เช่นกำของไม่แน่น ของหลุดมือบ่อย
โดยเฉพาะในกลุ่มที่นั่งทำงานออฟฟิศ สังเกตว่า การรัวนิ้วมือบนแป้นคีย์บอร์ด หรือการจับเมาส์ตลอดเวลา จะส่งผลให้กล้ามเนื้อมือเกิดความเมื่อยล้า
เนื่องจาก ต้องอยู่ในท่าเดิมๆ ตลอดทั้งวัน มีการเกร็งของนิ้วมือในขณะพิมพ์สัมผัส ส่งผลให้กระดูกข้อนิ้วเสื่อมสภาพ
การเคลื่อนเมาส์ไปมายังส่งผลทำให้ข้อมือเกิดการสร้างพังผืดขึ้นมา จนเกิดอาการปวดเนื่องจากโพรงเส้นประสาท
หรืออุโมงค์ข้อมือถูกกดทับ อาการที่เกิดขึ้นหากสาวๆ ไม่ทันระวัง และคิดว่าเป็นเพียงอาการเมื่อยล้าธรรมดา
อาจส่งผลให้พังผืดหนาตัว ตามมาด้วยอาการปวดเรื้อรัง และทำให้ข้อมือไม่สามารถใช้งานได้เช่นเดิมอีกก็เป็นได้
ลักษณะอาการของโรคพังผืดที่ควรสังเกต
โรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาท เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มสาวๆ ทำงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งกดแป้นคีย์บอร์ด
ลากเมาส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน การสะสมอาการเมื่อยล้าที่เกิดขึ้น ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ
อันเนื่องมาจากการถูกบีบรัดอยู่ตลอดเวลา อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้ คืออาการชาตามนิ้วมือโดยไม่ทราบสาเหตุ
มักพบได้บ่อยบริเวณนิ้วกลางและนิ้วนาง ส่วนนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ก็สามารถพบอาการชาได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ อาการเริ่มแรกจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนเสียส่วนใหญ่ เมื่อทำการสะบัดข้อมือ จะช่วยให้อาการทุเลาลง
แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ยังมีพฤติกรรมเดิมๆ อยู่ อาการชาจะรุนแรง เป็นหนักและบ่อยครั้งขึ้นจนกลายเป็นอาการชาตลอด 24 ชั่วโมง
สาเหตุของอาการชาที่เกิดขึ้นมาจากการที่เส้นประสาทเข้าไปกดทับฝ่ามือ ส่งผลให้เกิดอาการปวด
ซึ่งสามารถปวดร้าวต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงแขน บริเวณนิ้วที่เป็นแนวของเส้นประสาท
จะยิ่งมีอาการปวดมากขึ้น ยิ่งเป็นการทำงานใช้มือเกร็งเป็นเวลานานในท่าเดิม เช่น การจับมีด
การใช้ค้อนตอกตะปู หรือการใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่มีแรงสั่นสะเทือน เป็นต้น บางรายที่เส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานาน
จะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนแรงของมือ ไม่ค่อยมีแรงเมื่อกำมือ หยิบจับสิ่งของแล้วหลุดมือบ่อยๆ ยิ่งเป็นของชิ้นเล็ก ยิ่งทำให้รู้สึกจับได้ไม่ถนัดมือ
การก่อตัวขึ้นของเนื้อเยื่อพังผืด ส่งผลให้ความดันในช่องอุโมงค์เส้นประสาทสูงขึ้น
ในระยะที่พังผืดไม่ยังก่อตัวขึ้นเพียงบางๆ อาการที่แสดงออกมายังไม่มากนัก อาจมีอาการชาบ้างเล็กน้อย
แต่ก็จะหายไปได้เอง แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน พังผืดหนาตัวมากขึ้น กลายเป็นโรคพังผืดข้อมือทับเส้นประสาทเรื้อรัง
การรักษาด้วยยาจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อเลาะเอาส่วนของเนื้อเยื่อที่ไปกดทับเส้นประสาทออก จึงจะช่วยให้อาการดีขึ้น
แนวทางในการรักษาโรคพังผืดทับเส้นประสาท
ผู้ป่วยที่มีปัญหาที่เกิดจากโรคนี้ การรักษาจะแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรง หากพังผืดที่พบยังก่อตัวไม่มาก
แพทย์จะใช้วิธีลดความดันข้อมือ ด้วยการดามข้อมือของผู้ป่วยให้อยู่นิ่ง ซึ่งจะช่วยลดความดันในโพรงข้อมือให้ต่ำลงมากที่สุด
โดยผู้ป่วยเองก็จะต้องร่วมมือกับแพทย์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองในการใช้งานมือในชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือกดมือถือบ่อยๆ ต้องลดเวลาในการใช้ให้น้อยลง
พักมือบ่อยครั้ง หมั่นบริหารนิ้วมือในท่าอื่นๆ หลีกเลี่ยงการเกร็งมือติดต่อกันนานๆ
เช่น การงอข้อมือนาน การทำงานที่ต้องใช้แรงสั่นสะเทือนหรือการกระแทกตลอดเวลา เป็นต้น
สำหรับคนที่มีอาการชา และปวดเนื่องจากการอักเสบของเส้นประสาทมากขึ้น
แพทย์อาจจะต้องใช้วิธีฉีดยาชาผสมสเตียรอยด์รอบโพรงข้อมือที่อยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับเส้นประสาท
วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยบางรายหายเป็นปกติได้ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดอาการปวดและชาให้น้อยลง ดีขึ้นราว 40 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามการรักษาเบื้องต้นไม่สามารถใช้ได้ผลกับทุกคน ใครที่ใช้วิธีเหล่านี้
แล้วอาการยังคงอยู่ จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเข้ามาเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาให้หายขาดได้
วิธีบริหารข้อมือแก้พังผืดกดทับเส้นประสาท
การผ่าตัด กับทางเลือกกำจัดพังผืดที่ข้อมือ
การผ่าตัดกำจัดเอาพังผืดที่เกาะอยู่ออกไป มีวิธีหลักๆ แบ่งออกเป็น 3 วิธีด้วยกัน คือ
1.การผ่าตัดแบบเปิด (Open carpal tunnel release)
การผ่าจะทำให้สามารถมองเห็นเส้นประสาทที่ข้อมือได้โดยตรง ช่วยให้สามารถกำจัดเอาพังผืดออกไปได้ตรงจุด
มีผลทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บน้อยกว่า บางรายแพทย์อาจจะผ่าตัดเอาเยื่อหุ้มเอ็นออกไปด้วย
ความยาวของแผลที่ผ่าจะผ่าตั้งแต่ข้อมือไปจนถึงฝ่ามือ ความยาวของแผลจะอยู่ที่ 5-6 เซนติเมตร
ข้อเสียของการผ่าคือเมื่อผ่าเสร็จแล้วจะทำให้เกิดอาการปวด มือบวม ใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์
กว่าอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และสามารถกลับมาใช้งานได้ปกติเมื่อเวลาผ่านไปราวๆ 3 เดือน
2.การผ่าเปิดแผลแบบจำกัด (Limited open carpal tunnel release)
ความยาวของแผลมีขนาดสั้นกว่าแบบแรก เปิดบาดแผลเพียงแค่ 1.5 เซนติเมตรโดยประมาณเท่านั้น
ทีมแพทย์จะมีการใช้อุปกรณ์พิเศษในการกำจัดเอาพังผืดออกไป บาดแผลมีขนาดเล็ก ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ปกติได้เร็วขึ้นกว่าแบบแรก
3.การผ่าตัดด้วยกล้อง (Arthroscopic carpal tunnel release)
เป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยจะใช้กล้องส่องเข้าไปใต้ข้อมือที่มีพังผืด จากนั้นจะทำการตัดพังผืดออกด้านใน
การส่องกล้องผ่าตัดเป็นวิธีที่ถือว่าดีมาก เมื่อเทียบกับการผ่าทั้งสองวิธีข้างต้นแล้ว
เนื่องจากผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้หลังผ่าตัดเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น
และสามารถใช้มือได้ปกติภายใน 1 อาทิตย์ อีกทั้งแผลยังมีขนาดเล็กมากๆ ทำให้หายเร็วขึ้น
ไม่ทำให้เกิดอาการปวดหลังการผ่าตัด และมีอาการเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การป้องกันโรคพังผืดที่ข้อมือทับเส้นประสาท
แม้จะมีการรักษาที่ช่วยให้สาวๆ กลับมาหายได้เป็นปกติ แต่การป้องกันตัวเองจากโรคนี้ถือว่า
เป็นสิ่งที่ดีกว่าต้องไปทนกับอาการเจ็บปวดและค่ารักษา อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน
ทางที่ดีการป้องกันในเบื้องต้นสำหรับคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงานตลอดทั้งวัน ควรจัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับสรีระ
เพื่อลดอาการเมื่อยล้าจนทำให้เส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบ ด้วยการวางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากช่วงแขนแบบสบายๆ
ไม่เหยียดหรืองอข้อมือขณะพิมพ์หรือใช้เมาส์ จัดวางท่อนแขนให้ขนานกับพื้นในขณะพิมพ์
ส่วนมือข้างที่ใช้เมาส์ควรหาที่รองนุ่มๆ มาเป็นตัวช่วยป้องกันข้อมือ บริหารมืออย่างสม่ำเสมอ
ด้วยการทำฝ่ามือตั้งฉากกับแขน จากนั้นออกแรงดึงฝ่ามือเข้าหาตัว ทั้งหงายและคว่ำ
Photo Credit : en.wikipedia.org
หรือจะเป็นการใช้ฝ่ามือดันกับพื้น ก็จะช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของนิ้วและข้อมือให้ผ่อนคลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สาวๆ ควรพักมือเปลี่ยนอิริยาบถบ้างทุกๆ 15-20 นาที หากมีพฤติกรรมเป็นนักจิ้มสมาร์ทโฟนด้วย
ก็ควรหลีกเลี่ยง ใช้งานให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็น ก็จะช่วยให้สุขภาพมือของสาวๆ
ไม่เสื่อมสภาพกลายเป็นโรคพังผืดข้อมือ ก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพองค์รวมอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ