ภาวะสมองเสื่อม เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรเฝ้าระมัดระวังมากพอสมควร หลายคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคนี้
จวบจนเมื่ออาการแย่หนักขึ้น ดังนั้น เราจึงควรใส่ใจศึกษาโรคนี้กันอย่างเนิ่นๆ โดยเฉพาะ สุขภาพคนวัย 40
ซึ่งเป็นวัยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้ค่อนข้างสูง ไปตลอดจน ผู้สูงอายุ ก็เช่นเดียวกัน วันนี้เราเลยจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ
ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร สาเหตุ อาการและวิธีรักษาป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ
ภาวะสมองเสื่อม คืออะไร?
ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีปัญหาจากการบกพร่องของระบบประสาทจากสมอง
และเนื่องจากเป็นกลุ่มอาการของโรค ภาวะสมองเสื่อมจึงสามารถจำแนกได้อีกหลากหลายประเภท โดยส่วนใหญ่แล้วในปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
มักมีความเสี่ยงในการเป็นภาวะสมองเสื่อมสูงมากขึ้น ผิดจากในอดีตที่ภาวะสมองเสื่อมมักจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ประเภทของภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการความผิดปกติที่สามารถจำแนกได้หลายประเภท ดังนี้
โรคอัลไซเมอร์ : เป็นโรคที่เกิดจากคราบพลาก ที่มาจากเซลล์ในสมองตายทำให้เกิดการสะสมรวมตัวกัน
และอาจจะเกิดได้จากความผิดปกติของระบบภายในสมอง ทำให้พัฒนาได้ช้า ส่งผลต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์
โรคคล้ายอัลไซเมอร์ : รูปแบบของอาการอาจจะมีความคล้ายคลึงกับอัลไซเมอร์ แต่จะแตกต่างตรงที่จะมีภาวะเป็นอัลไซเมอร์แบบชั่วคราว
คือเป็นๆ หายๆ โดยเกิดจากความผิดปกติของโปรตีนภายในระบบสมอง ที่จับตัวรวมกันเป็นก้อน เรียกว่า ก้อนโปรตีน Lewy body
โรคพาร์กินสัน : โรคพาร์กินสันมีสาเหตุมาจากก้อนโปรตีน Lewy body เช่นเดียวกัน แต่โรคพาร์กินสันจะส่งผลต่อระบบประสาท
ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเป็นหลัก แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อมได้จากการเคลื่อนไหว
สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม
ในเรื่องของสาเหตุภาวะสมองเสื่อม สามารถที่จะอธิบายได้หลากหลาย เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนจะมีสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่แตกต่างกัน โดยอธิบายได้ดังนี้
หลอดเลือดสมอง : สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่มาจากหลอดเลือดภายในสมองนั้น ถือว่าเป็นสาเหตุหลักที่มักจะพบได้ในบุคคลทั่วไปที่ป่วยเป็นภาวะสมองเสื่อม
โดยสาเหตุอาจจะเกิดจากเซลล์ภายในสมองตายหรือเสื่อมสภาพลง ดังนั้น จึงทำให้เซลล์ที่ไร้ประสิทธิภาพเหล่านี้ไปทำการอุดตันบริเวณหลอดเลือดที่ส่งเข้าสู่สมอง
ซึ่งจะเป็นการอุดไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดแดงนำออกซิเจนไปสู่สมองได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้นั่นเอง
การบาดเจ็บ : การบาดเจ็บถือเป็นสาเหตุรองลงมาของการเป็นภาวะสมองเสื่อมของกลุ่มผู้ป่วยในยุคปัจจุบัน โดยกลุ่มที่เสี่ยงจะเกิดอาการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อการเป็นภาวะสมองเสื่อม เช่น
- นักกีฬา
- ผู้สูงอายุ
- ผู้มีปัญหาการเคลื่อนไหว
โดยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้อาจจะเกิดจากการล้ม หรือถ้าหากเป็นนักกีฬาอาจจะเกิดปัญหาจากการกระแทกของอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นกีฬา
ซึ่งถ้าหากเกิดอาการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อสมองโดยตรง ก็จะสามารถทำให้เซลล์สมองเสื่อมและตายได้ในที่สุด
เซลล์สมองส่วนหน้า : เซลล์สมองส่วนหน้าถือเป็นส่วนที่อันตราย โดยหากเซลล์ประสาทที่อยู่บริเวณนั้นมีปัญหาและตายลง
ก็จะส่งผลในเรื่องของการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท ซึ่งเมื่อไม่มีการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท
หรือมีความบกพร่องในการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท ก็จะทำให้เซลล์บริเวณอื่นๆ เสื่อมสภาพและตายลงได้เช่นเดียวกัน
ก้อนโปรตีน Lewy Bodies : หากภายในเซลล์สมองมีการสะสมของก้อนโปรตีนชนิดนี้ ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม
แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพต่างๆ อีกได้ เช่น การนอนไม่หลับ ร่างกายขาดสมดุล หรือแม้แต่กระทั่งการเกิดอาการประสาทหลอน
คราบพลาก : หากในสมองมีการสะสมของเซลล์ที่ตาย จนทำให้เกิดคราบพลาก ก็จะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ และส่งผลทำให้เป็นภาวะสมองเสื่อม
จากสาเหตุที่กล่าวมานั้น ล้วนเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมแบบถาวร และไม่สามารถที่จะรักษาให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่มีโอกาสในการรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ เช่น
- ภาวะขาดไทรอยด์
- ภาวะขาดวิตามินบี
- ภาวะโพรงสมองคลั่งน้ำ
- ติดเชื้อ HIV
- การรับสารพิษโลหะหนัก
อาการภาวะสมองเสื่อม
ในส่วนของภาวะสมองเสื่อมจะมีการแสดงออกทางอาการในเรื่องของสภาพจิตใจ และกระบวนการทางความคิดหรือวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เช่น
- ปัญหาด้านการสื่อสาร ไม่สามารถที่จะพูดคุยหรือโต้ตอบได้อย่างเหมาะสม
- ไม่สามารถวิเคราะห์หรือหาเหตุผลในการแก้ไขปัญหาได้
- ไม่สามารถที่จะวางแผนหรือทำการจัดลำดับ
- ไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้
- ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้เหมือนปกติ
- มักสับสนอยู่ตลอดเวลา
- มีความวิตกกังวล
- บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง
ระยะเวลาของภาวะสมองเสื่อม
สำหรับภาวะสมองเสื่อมนั้นสามารถที่จะแบ่งได้เป็นขั้นระยะเวลา ซึ่งการจำแนกไปตามขั้นระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายที่จะเป็นตัวกำหนด โดยแบ่งไปตามระยะอาการดังนี้
ระยะเริ่มแรก : เป็นระยะเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับสมองบางส่วน ผู้ป่วยอาจจะมีอาการหลงลืมไปบ้าง แต่ยังไม่มาก
ระยะปานกลาง : เป็นระยะที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองเสื่อมที่อยู่ในขั้นเสี่ยงที่จะเป็น
ซึ่งสิ่งที่สามารถสังเกตได้คือ มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยจะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ
อย่างเช่น ไม่สามารถหวีผมได้ ลืมทานอาหาร นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพ
อย่างเช่นการทำพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล และนอนหลับได้ยาก
ระยะรุนแรง : ถือเป็นระยะที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากผู้ป่วยนั้นจะไม่สามารถสื่อสารได้ในรูปแบบปกติ
หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้ที่ดูแลตลอดเวลา และผลกระทบขั้นรุนแรงนี้
ยังสามารถส่งผลกระทบทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายไม่สามารถที่จะควบคุมได้ อย่างเช่น กระเพาะปัสสาวะ
การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม
การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม แพทย์จะมีวิธีการวินิจฉัยเพื่อที่จะช่วยยืนยันผลตรวจให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีวิธีวินิจฉัยดังนี้
1.การตั้งคำถาม
การตั้งคำถามจะมีความคล้ายคลึงกับการสอบถามประวัติของผู้ป่วยในการวินิจฉัยโรคทั่วไป โดยจะมีคำถามที่เป็นการทดสอบความจำของผู้ป่วย เช่น
- อายุ
- วันเกิด
- กิจกรรมที่ทำล่าสุด
และยังเป็นรูปแบบคำถามอื่นๆ ที่แพทย์ได้มีการจัดเตรียมเอาไว้ แต่ในการตั้งคำถามนั้นจะไม่ได้ทำเพียงแค่ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะสมองเสื่อมเท่านั้น
เพราะจะต้องมีการสอบถามกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ในเรื่องของอาการที่เกิดขึ้นร่วมด้วย
2.การตรวจ clinical dementia Rating
เป็นรูปแบบการตรวจที่แพทย์จะต้องมีการประเมินผู้ป่วยทั้งในเรื่องของความจำ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม หรือแม้แต่กระทั่งการดูแลตัวเอง
3.การตรวจ mmse
เป็นการตรวจที่จะต้องมีการทำแบบสอบถามเพื่อวัดความบกพร่องที่เกิดขึ้นกับสมอง แต่จะเป็นการตอบแบบสอบถามในด้านของการสื่อสารเป็นหลัก
รวมถึงการคิดวิเคราะห์ต่างๆ นอกเหนือจากนี้แล้ว การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ถ้าจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ในเรื่องของภาวการณ์ขาดวิตามินบี 12 หรือภาวะขาดไทรอยด์ ก็จะช่วยในการระบุรูปแบบของภาวะสมองเสื่อมได้
วิธีรักษาภาวะสมองเสื่อม
สำหรับวิธีรักษาภาวะสมองเสื่อมแพทย์จะใช้ 2 วิธีหลักในการรักษา คือ การรักษาด้วยยา และรักษาด้วยการบำบัด โดยมีวิธีดังนี้
1.รักษาด้วยการบำบัด
สำหรับวิธีรักษาด้วยการบำบัดนั้นจะต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งการบำบัดได้ดังนี้
วางแผนการทำงาน การวางแผนการทำงานจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเรียงลำดับความสำคัญในการทำงานได้ และลดการเกิดความสับสนในระหว่างทำงานได้มากขึ้น
การสร้างสมาธิ เป็นการบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยได้สนใจเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นวิธีการลดความสับสนได้เช่นเดียวกัน โดยอาจจะใช้วิธีการนั่งสมาธิเป็นตัวช่วยร่วมด้วย
2.รักษาด้วยยา
แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาด้วยยา สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด การรักษาด้วยยาจะช่วยลดอาการไม่ให้แย่ลง โดยยาที่จะจ่ายมีดังนี้
- ยา memantine เป็นยาที่จะช่วยรักษาระบบการทำงานของสารสื่อประสาท แต่อาจจะทำให้เกิดอาการมึนศีรษะได้เป็นบางครั้ง
- ยา Cholinesterase Inhibitors เป็นกลุ่มยาอีกหนึ่งอย่างที่แพทย์จะจ่ายให้กับผู้ป่วย
แต่สำหรับยาที่กล่าวมานั้นถือเป็นยาที่แพทย์จะทำการจ่ายให้กับผู้ป่วย โดยแพทย์อาจจะต้องมีการจ่ายยาชนิดอื่นให้กับผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น อาการนอนไม่หลับ ภาวะซึมเศร้า
วิธีป้องกันภาวะสมองเสื่อม
สำหรับภาวะสมองเสื่อมนั้นเป็นเรื่องยากที่จะหาวิธีป้องกันได้แบบชัดเจน มีเพียงแค่การดูแลสุขภาพก็สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นภาวะสมองเสื่อมได้ โดยมีวิธีคือ
รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ : การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นการช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน
และช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรค โดยจะต้องเน้นอาหารที่บำรุงสมองเป็นพิเศษ
การทำกิจกรรม : ควรที่จะต้องออกไปทำกิจกรรมในการเข้าสังคม หรือแม้แต่กระทั่งการออกกำลังกายบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นความจำให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี
Credit : Unforgettable.org
ภาวะสมองเสื่อม ถึงแม้จะดูอันตรายต่อ คนวัย 40 ปีขึ้นไป แต่หากรู้จักวิธีป้องกันและดูแลรักษาอย่างถูกต้องทันการณ์
ก็สามารถส่งผลให้เกิดความปลอดภัยจากโรคนี้ได้ และทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย